19 ก.ค.62 เว็บไซต์สำนักข่าวอิสรา รายงานว่า บทสรุปคดีอาญา นายวรวุฒิ กันทริกา ลูกจ้างประจำที่ทำการไปรษณีย์พรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี กัก ยึด ซ่อนเร้น ทำลายหรือทำให้สูญหายซึ่งไปรษณีย์ภัณฑ์ ซึ่ง ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติชี้มูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ตามพ.ร.บ.ไปรษณีย์ไทย พ.ศ.2477 มาตรา 71 และตาม พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 11 ไปเมื่อวันที่ 17 ต.ค.2560 ที่ผ่านมา
ก่อนที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 จะมีคำพิพากษาว่า นายวรวุฒิ กันทริกา จำเลย มีความผิดตามที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูล ลงโทษบทหนักที่สุด ตามมาตรา 90 จำคุก 1 ปี แต่รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 เหลือจำคุก 6 เดือน ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว (อ่านประกอบ : ศาลฯ สั่งลงโทษหนักคุก1ปี ลูกจ้างปณ.พรหมบุรี ยึดซ่อนเร้นไปรษณีย์ภัณฑ์-สารภาพเหลือ 6 ด.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ที่ตัดสินลงโทษ นายวรวุฒิ กันทริกา จำคุก 6 เดือน พบว่ามีการระบุพฤติการณ์กระทำความผิดไว้ ดังนี้
“จำเลย” หรือ “นายวรวุฒิ กันทริกา” เป็นลูกจ้างประจำของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ปฏิบัติงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่นำจ่าย ประจำแผนกปฏิบัติการที่ทำการไปรษณีย์พรหมบุรี อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี สังกัดสำนักงานไปรษณีย์เขต 1 และได้รับมอบหมายจากหน้าที่ทำการไปรษณีย์พรมหมบุรี ให้มีอำนาจหน้าที่เป็นพนักงานนำจ่าย ด้านที่ 1 เขตพื้นที่ตำบลบ้านแป้ง หมู่ที่ 1-6 และตำบลบางน้ำเชี่ยว หมู่ที่ 3-5 เตรียมการนำจ่ายไปรษณีย์ธรรมดา ตามวิธีปฏิบัติงานและหน้าที่ที่มอบหมายไว้ในคู่มือคัดเลือกขาเข้าของที่ทำการ, เตรียมการนำจ่ายสิ่งของมีหลักฐานทุกประเภทตามหลักฐานส่งมอบ, จัดทำบัญชีนำจ่ายด้วยระบบ TRACK & TRACE และ ป.303, ส่งข้อมูลการนำจ่ายด้วยระบบ TRACK & TRACE อย่างช้าภายในเวลา 10.00 นาฬิกาของวันทำการถัดไป, นำหลักฐานการนำจ่ายฯ ผนึกเข้าเล่มให้เรียบร้อยตามระเบียบ, สิ่งของนำจ่ายฯ ที่นำจ่ายไม่ได้หรือไม่หมดในแต่ละวันให้หมายเหตุข้อขัดข้องการนำจ่ายตลอดจนเหตุผลแล้วส่งมอบให้หัวหน้าที่ทำการไปรษณีย์,เป็นคณะกรรมการเปิด-ปิดถุงไปรษณีย์ มีสถานะเป็นพนักงาน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2500 มาตรา 3 และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4
เมื่อระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2553 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 5 มีนาคม 2553 เวลากลางวัน ต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างประจำของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามกฎหมายดังกล่าว มีหน้าที่นำจ่ายไปรษณียภัณฑ์ด้านที่ 1 เขตพื้นที่ตำบลบ้านแป้ง หมู่ที่1-6 และตำบลบางน้ำเชี่ยว หมู่ที่ 3-5 ได้ยึดหรือจงใจซ่อนเร้นเก็บหรือกักถุงไปรษณียภัณฑ์ หรือไปรษณียภัณฑ์ในระหว่างส่งทางไปรษณีย์
โดยจำเลยได้รับไปรษณียภัณฑ์โปรโมชั่นสินค้าประจำเดือนของห้างแมคโคร, ไปรษณียภัณฑ์ที่ฝากส่งของ บริษัท เทสโก้โลตัส (เกี่ยวกับคูปองเงินสดคลับการ์ด) จดหมาย และไปรษณียภัณฑ์อื่นอีกหลายรายการรวมจำนวน 200 ชิ้น จากที่ทำการไปรษณีย์พรหมบุรี เพื่อนำจ่ายให้แก่ผู้รับตามจ่าหน้าในเขตพื้นที่รับผิดชอบของจำเลย แต่จำเลยไม่ได้นำส่งไปรษณียภัณฑ์ทั้งหมดดังกล่าวให้กับผู้รับจ่าหน้า
ต่อมา หัวหน้าที่ทำการไปรษณีย์พรหมบุรี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยได้ไปที่บ้านพักของจำเลยเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงจากการที่มีผู้ร้องเรียน เรื่องการนำจ่ายไปรษณีย์ในพื้นที่ไปรษณีย์พรหมบุรีไม่ถึงผู้รับปลายทาง
พบว่า จำเลยได้นำไปรษณียภัณฑ์ทั้งหมดดังกล่าว จำนวน 200 ชิ้น ที่รับจากที่ทำการไปรษณีย์พรหมบุรี เพื่อนำจ่ายให้แก่ผู้รับตามจ่าหน้าในเขตพื้นที่รับผิดชอบของจำเลยไปเก็บไว้ที่ห้องพักของจำเลย โดยจำเลยไม่ได้นำส่งไปรษณียภัณฑ์ให้กับผู้รับตามจ่าหน้า และหัวหน้าที่ทำการไปรษณีย์พรหมบุรีซึ่งเป็นเจ้าพนักงานได้ร้องขอให้จำเลยนำไปรษณียภัณฑ์ทั้งหมดดังกล่าวไปไว้ที่ที่ทำการไปรษณีย์พรหมบุรี
จำเลยยังละเลยไม่ยอมมอบถุงไปรษณีย์ หรือไปรษณียภัณฑ์อันควรมอบให้แก่หัวหน้าที่ทำการไปรษณีย์พรหมบุรี และที่ทำการไปรษณีย์พรหมบุรี แต่กลับนำไปรษณียภัณฑ์ทั้งหมดดังกล่าวไปเผาทำลายเสีย
การกระทำของจำเลยดังกล่าว ได้กระทำการฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัดและผู้หนึ่งผู้ใด
เหตุเกิดที่ตำบลพรหมบุรี ตำบลบ้านแป้ง และตำบลบางน้ำเชี่ยว อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี เกี่ยวพันกัน
ศาลฯ พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ.2477 มาตรา 71 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2500 มาตรา 11 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นควรอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1
อย่างไรก็ดี อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างประจำของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้รับไปรษณียภัณฑ์จากที่ทำการไปรษณีย์พรหมบุรีแล้ว ไม่นำส่งให้แก่ผู้รับจ่าหน้า และละเลยไม่มอบถุงไปรษณียภัณฑ์ให้แก่หัวหน้าที่ทำการไปรษณีย์พรหมบุรี และที่ทำการไปรษณีย์พรหมบุรี ตามคำร้องขอของหัวหน้าที่ทำการไปรษณีย์พรหมบุรี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลย
แต่กลับนำไปรษณียภัณฑ์ทั้งหมดไปเผาทำลาย ถือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยมีเจตนาทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัดและผู้หนึ่งผู้ใดแต่อย่างเดียว
การกระทำของจำเลย ตามฟ้องโจทก์ จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ตามที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ได้วินิจฉัยไปแล้ว
จึงเห็นควรไม่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ตามที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ร้องขอมา
ข่าวจาก สำนักข่าวอิศรา
หมายเหตุ : ภาพประกอบข่าวจาก ผู้จัดการ เป็นเพียงภาพประกอบข่าว ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาแต่อย่างใด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ