เมื่อวันที่3 เมษายน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ ว่า ครม.อนุมัติหลักการ เรื่องการขอบรรจุข้าราชการเพิ่มเติมจากที่เป็นพนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุข ในส่วนที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ดูแลสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จำนวน 45,684 คน จากจำนวนบุคลากรประเภทนี้ที่อยู่ในสาธารณสุขประมาณ 160,000 คน ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เสนอ โดยบุคลากรเหล่านี้เป็นบุคลากรวิชาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ เจ้าหน้าที่ด้านการสาธารณสุขในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นบุคลากรที่มีทักษะและได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี และประเทศควรจะต้องรักษาให้ระบบการสาธารณสุขสามารถคงจำนวนบุคลากรเหล่านี้ให้อยู่ในระบบอย่างยั่งยืน ด้วยข้อจำกัดของกลไกราชการ บุคลากรเหล่านี้มีสภาพเป็นเพียงพนักงาน หรือลูกจ้างของรัฐ สาธารณสุขใช้เงินบำรุงของแต่ละโรงพยาบาลมาว่าจ้าง ทำให้เกิดการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านของบุคลากรในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก เพราะเมื่อมีข้อเสนอที่ดีกว่าจากภาคส่วนอื่น ก็ต้องไปทำงานในที่ที่มีรายได้มากกว่า ทั้งที่ต้นทุนในการฝึกฝนทักษะ รัฐได้เป็นผู้ลงทุนไว้ และเมื่อมีสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เห็นการเสียสละ ทุ่มเทและความมุ่งมั่นของบุคลากรสาธารณสุขเหล่านี้ ที่เข้าไปต่อสู้รักษาป้องกันอย่างสุดความสามารถ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อคนในชาติ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ติดเชื้อเป็นจำนวนมากแล้ว รวมทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข
ดังนั้นการปรับสถานะให้มีความมั่นคงในอาชีพการงาน จะทำให้คุณภาพของงานบริการผู้ป่วยได้รับการยกระดับอย่างชัดเจน เป็นเรื่องที่ค้างคามานาน ต้องใช้อำนาจทางการบริหารเท่านั้นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเขาได้ บุคลากรเหล่านั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญชำนาญเฉพาะทางเป็นสายอาชีพ ไม่สามารถทดแทนได้ด้วยคนสายอื่นหรือเครื่องจักรได้ และการปรับสถานะของบุคลากรไม่ได้หมายความว่าจะมีรายได้มากเท่ากับการไปทำงานในภาคเอกชน แต่จะทำให้มีความภาคภูมิใจในวิชาชีพมีความมั่นคงและมีเกียรติยศ และสิ่งที่กำลังพิจารณาอยู่นี้เป็นการเตรียมความพร้อมของระบบการสาธารณสุขของประเทศให้มีความมั่นคงยิ่งกว่าเดิม เมื่อผ่านพ้นโควิด-19 นี้ไปได้ จะมีบุคลากรสาธารณสุขที่เปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ ความพร้อม และศักยภาพในการรับมือกับโรคระบาดใหญ่ในอนาคต สร้างฐานที่มีความมั่นคงทางการสาธารณสุข ที่พร้อมให้การดูแลสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้ หลังจากโควิด-19 คนเหล่านี้จะมีผู้ดูแล รักษา ป้องกันโรค เพื่อประเทศไทยจะได้มีสังคมผู้สูงอายุที่แข็งแรง มั่นคง ยั่งยืน และเป็นประเทศที่มีระบบการสาธารณสุขที่เข้มแข็งในลำดับต้น ๆ ของโลกตลอดไป ทั้งนี้รายละเอียดจะมีการเสนอครม.พิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง
ข่าวจาก มติชนออนไลน์, หมอตี๋ สาธิต ปิตุเตชะ
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ