การบินไทย แจง นักบินสามารถเติมน้ำมันเพิ่มได้ แต่ต้องรายงานผู้บังคับบัญชา ยืนยันประเมินนักบินพิจารณาจากหลายด้าน
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 จากกรณี น.พ.กรพรหม แสงอร่าม หรือ “หมอต้วง” อดีตกัปตันการบินไทย และศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เครื่องบินเคยเกือบตก เนื่องจากบริษัทฯคำนวณเติมน้ำมันให้น้อย และหมอต้วง ยังเรียกร้องขอความธรรม จากการคัดคนออกจากองค์กร โดยได้คะแนนประเมินการสั่งน้ำมันของนักบินในระดับต่ำ 1.13/10 เพราะสั่งน้ำมันเกินจากที่คำนวณบ่อยครั้ง ซึ่งโพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ออกไปในโลกออนไลน์เป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
ล่าสุดบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ชี้แจงระบุว่า บริษัทฯได้ทำการตรวจสอบข้อมูลการสั่งน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อที่จะใช้เป็นข้อมูลในการประเมินผลการปฏิบัติงานของนักบิน โดยขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า การวางแผนการบินของบริษัทฯ เป็นไปตามมาตรฐานและกฎสากล โดยปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงของทุกเที่ยวบิน (Standard Ramp Fuel) จะประกอบด้วยเชื้อเพลิงในส่วนต่าง ๆ ได้แก่ น้ำมันขับเคลื่อนบนพื้น (Taxi Fuel) น้ำมันสำหรับเดินทางตั้งแต่วิ่งขึ้นจนถึงสนามบินปลายทาง (Trip Fuel) น้ำมันใช้เดินทางไปยังสนามบินสำรอง (Alternate Fuel) น้ำมันสำรองสุดท้ายที่ใช้บินวน 30 นาที ในระดับความสูง 1,500 ฟุต เหนือสนามบินสำรอง (Final Reserve Fuel) และน้ำมันเชื้อเพลงสำรองฉุกเฉิน สำหรับเหตุการณ์ที่ไม่เป็นไปตามแผน (Contingency Fuel)
นอกจากนี้ หน่วยงานประสานการอำนวยการบิน (Flight Dispatch Department) ของบริษัทฯ โดยพนักงานอำนวยการบิน (Flight Dispatcher) ที่ผ่านการทดสอบความรู้ และถือใบอนุญาตจากองค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA) และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เป็นผู้ทำหน้าที่ในการวางแผนการบิน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานกฎการบิน โดยการวางแผนนี้ได้ครอบคลุมข้อมูลด้านการบิน ตลอดเส้นทางการบิน ได้แก่ เอกสารแถลงข่าวการบิน (Aeronautical Information Publication: AIP), การออกประกาศสำหรับผู้ทำการในอากาศ (Notices to Airmen :NOTAM), สภาพอากาศระหว่างเส้นทางการบิน (En-route Weather), สนามบินปลายทาง (Destination), สนามบินสำรองระหว่างเส้นทาง (En-route Alternate), สนามบินสำรองที่ปลายทาง (Destination Alternate) และแผนการบิน (Operation Flight Plan) เพื่อนำมาประมวล และกำหนดเส้นทางบินที่ปลอดภัยที่สุด โดยระบบคอมพิวเตอร์จะนำข้อมูลดังกล่าวมาคำนวณ เพื่อกำหนดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในแต่ละเที่ยวบิน
โดยก่อนทำการบินในแต่ละเที่ยวบิน พนักงานอำนวยการบินและนักบินจะต้องมาปรึกษาหารือร่วมกัน (Joint Responsibility) โดยนักบินควบคุมอากาศยานจะพิจารณาปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงอีกครั้งตามความเหมาะสม หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ควบคุมระวางน้ำหนัก (Load Control-Red Cap) จะคำนวณน้ำหนักผู้โดยสาร กระเป๋าสัมภาระ ไปรษณียภัณฑ์และคาร์โก้ โดยนำน้ำหนักที่แท้จริง (Actual Zero Fuel Weight) แจ้งให้นักบินรับทราบ เพื่อพิจารณาปรับปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงหากมีความจำเป็นต่อไป
จะเห็นได้ว่า ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงในการเดินทางจะมีการวางแผน มีขั้นตอน ประเมิน จากข้อมูลต่าง ๆ อย่างรอบคอบรัดกุม ถึง 3 ขั้นตอน จึงมั่นใจได้ว่าการทำการบินในทุกเที่ยวบินของการบินไทย ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ทุกสายการบินในโลกปฏิบัติอยู่ตามมาตรฐานสากลทำให้มีความปลอดภัยสูงสุด
สำหรับกรณีมีเหตุจำเป็น นักบินสามารถสั่งปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ (Extra Fuel) ได้ แต่ต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ
อย่างไรก็ตาม การประเมินนักบิน มีเกณฑ์การพิจารณาอีกหลายด้าน เช่น การปฏิบัติการบินอย่างปลอดภัย (Accident, Incident) ประสิทธิภาพและความตั้งใจในปฏิบัติหน้าที่ (Performance) การสั่งน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยความเหมาะสม (Optimum Fuel) อย่างมีประสิทธิภาพบนพื้นฐานของความปลอดภัย
บริษัทฯ ปฏิบัติการบินโดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นอันดับแรก และวางแผนการบินตามมาตรฐานสากลอย่างถูกต้อง โดยปฏิบัติการบินในทุกเที่ยวบินอย่างปลอดภัยและตรงเวลา เพื่อให้ผู้โดยสารและลูกค้าได้รับความพึงพอใจในการบริการสูงสุด
ทั้งนี้ บริษัทฯ ขอยืนยันเพื่อให้ความมั่นใจแก่ผู้โดยสารทุกท่านว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญสูงสุดต่อความปลอดภัยของผู้โดยสารทุกเที่ยวบิน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลด้านความปลอดภัยในการปฏิบัติการบิน
ข่าวจาก : pptvhd36
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ