ตรวจสอบ เสาไฟกินรี เจอพิรุธเพียบ คนเสนอราคาน้อยกว่ากลับแพ้ กรรมการ 3 คน ไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องวิศวกรรม เงื่อนไขตัดสินส่อล็อกสเปก พบ 2 ปี ซื้อเสาไฟแล้ว 642 ล้าน
จากกรณี เสาไฟกินรี ในพื้นที่ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ พบว่าเสาแต่ละต้นมูลค่าเกือบ 1 แสนบาท ประกอบกับจุดที่ติดตั้งเป็นพื้นที่ที่สังคมตั้งข้อสังเกตว่าเกินความจำเป็นหรือไม่ โดยนายก อบต.ราชาเทวะ ยืนยันว่า เป็นการจัดซื้อผ่าน E-Bidding ของกรมบัญชีกลาง เชื่อว่าถูกโจมตีเรื่องนี้เพราะการเมืองนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 11 มิถุนายน 2564 รายการข่าว 3 มิติ ช่อง 3 รายงานว่า นายธนวัฒน์ สนิทศักดิ์ดี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเขต 1 บอกว่า การตรวจสอบเบื้องต้น พบพิรุธหลายประเด็น เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง และความคุ้มค่าในเชิงภารกิจ ตามพระราชกฤษฎีการะเบียบบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี เสาไฟแบบเดียวกันแต่แยกเป็นหลายโครงการ เป็นอีกหนึ่งข้อสงสัยที่ ป.ป.ท.กำลังตรวจสอบ เท่าที่ค้นดูในระบบ พบว่าแต่ละโครงการตั้งงบประมาณไม่เกิน 200 ล้านบาท เพราะถ้าเกินกว่านั้นจะเกินอำนาจของนายก อบต.ที่จะอนุมัติได้
จากการตรวจสอบ ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ผ่านโครงการติดตั้งเสาไฟกินรีไปแล้วไม่น้อยกว่า 10 โครงการ โดยตำบลราชาเทวะ มีประชากรอยู่ราว 15,185 ครัวเรือน จนถึงตอนนี้มีเสาไฟติดตั้งไปแล้วไม่น้อยกว่า 11,300 ต้น ที่น่าสนใจก็คือเสาทุกต้น มีเอกชนคู่สัญญาเพียงแห่งเดียว ทำให้เกิดคำถามว่าอาจเป็นการล็อกสเปก เพื่อให้เอกชนรายใดรายหนึ่งได้งานหรือไม่
เช่นเดียวกับ CSI LA ตั้งข้อสังเกตการเสนอราคาของเอกชน ในเอกสารจะเห็นว่าผู้ที่ให้ราคาต่ำสุด โดยเสนอต่ำกว่า 100 ล้าน แต่กลับไม่ได้เป็นผู้ชนะการประมูลโครงการ นอกจากนี้ ขณะที่กรรมการกำหนด TOR และราคากลาง 3 คน พบว่า ไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม มีแต่การเงินกับพัสดุ ทั้งที่เป็นโครงการใหญ่และมูลค่าหลายร้อยล้าน
ส่วนสาเหตุที่ผู้ให้ราคาสูงกว่าชนะการประมูลนั้นในข้อกำหนดเพิ่มเติม พบพิรุธในข้อ 3.1 ระบุว่า ผู้เสนอราคา จะต้องนำตัวอย่างอุปกรณ์มาทดลองติดตั้งจริง ในสถานที่ที่กำหนดเพื่อให้กรรมการพิจารณา ภายใน 1 วัน นับจากวันเสนอราคา พร้อมกับแจกแจงรายละเอียดอุปกรณ์ จากเงื่อนไขที่ อบต.ราชาเทวะตั้งขึ้นมานี้ จึงถูกมองว่า อาจเข้าข่ายล็อกสเปกเอื้อให้บริษัทที่เลือกไว้แล้วหรือไม่
ป.ป.ท.ยืนยันจะตรวจสอบในทุกมิติ ที่ประชาชนตั้งคำถาม เช่น ติดตั้งในจุดที่มีไฟส่องสว่างของการไฟฟ้าติดตั้งอยู่แล้ว ความถี่ที่มากเกินความจำเป็น การปักเสาในที่เอกชน ในพื้นที่รกทึบที่ไม่ค่อยมีคนสัญจร หรือแม้แต่บึงน้ำก็มีเสากินรีปักอยู่ด้วย จากนี้จะรวบเอกสารหลักฐานทั้งหมด ส่งให้ ป.ป.ช.เป็นผู้ชี้ขาด ทุจริตหรือไม่
ขณะที่ รายการเอาให้ชัด ช่องวัน รายงานว่า ตรวจสอบกรมบัญชีกลาง ช่วงปี 2562 – 2564 พบว่า อบต.ราชาเทวะ มี 7 โครงการก่อสร้างเสากินรี รวม 6,773 ต้น งบรวม 642 ล้าน ราคาต้นละ 94,884 บาท
ข่าวจาก : kapook
ภาพจาก ข่าว 3 มิติ ,เอาให้ชัด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ