มิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์เงิบ ไปต่อไม่เป็น โทรมาหลอกให้จ่ายเงิน อ้างค้างชำระมานานแล้ว หนุ่มแนะวิธีถ้าเจอแบบนี้ให้ถามข้อมูลเยอะ ๆ แล้วแจ้งความ
วันที่ 21 ต.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีชายหนุ่มชาว จ.พิษณุโลก รายหนึ่งโพสต์คลิปเตือนภัยของกลุ่มมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ลงในแอปพลิเคชั่นติ๊กต็อก ขณะถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์สินเชื่อแมวเหมียวโทรมาทวงให้ชำระเงินแทนคนชื่อรจนาที่ไปกู้เงิน
คนที่โทรเข้าบอกว่าค้างชำระมานานแล้ว ทั้งที่เจ้าตัวยืนยันว่าไม่รู้จักกับคนที่กู้เงินแต่อย่างใด และมีการบันทึกเสียงสนทนากันไว้อย่างเผ็ดร้อนจนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ถึงกับไปไม่เป็นเลยทีเดียว โดยมีผู้เข้าไปคอมเมนต์และเข้าไปดูคลิปแล้วขณะนี้จำนวนนับล้านครั้ง
นายสุริยสกุล สิงห์หฬ อายุ 31 ปี เจ้าของห้องชุด ต.ในเมือง อ.เมืองพิษณุโลก เปิดเผยว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ทิพย์ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ผี ได้โทรศัพท์มาหาตนช่วงเวลาประมาณ 2 ทุ่ม ของวันที่ 17 ต.ค. สอบถามตนว่ารู้จักกับคนชื่อรจนาหรือไม่ เพราะไปกู้เงินจากบริษัทแมวเหมียวสินเชื่อมาประมาณ 5,000 บาท อ้างว่าตนเองเป็นสามีของนางรจนาพร้อมทั้งให้เบอร์โทรศัพท์ตนเอาไว้กับบริษัทสินเชื่อแมวเหมียว และมีการค้างชำระมานานแล้ว
ตนเองก็แย้งออกไปว่าไม่ได้รู้จักใดๆ เลย กับคนที่ชื่อรจนา เมื่อถามว่าทำไมจึงโทร.มาเบอร์นี้ คอลเซ็นเตอร์อ้างว่าคนกู้เงินทิ้งเบอร์นี้ไว้ หากไม่ชำระจะส่งฟ้อง ซึ่งตนก็ท้าให้ฟ้องมาเลยเพราะไม่รู้จักกับคนกู้ แต่คอลเซ็นเตอร์กลับบอกว่าไม่เชื่อหรอกว่าไม่รู้จัก ทำให้ตนบอกว่าแบบนี้อยากจะขอนัดเจอกับฝ่ายที่มาทวงหนี้ แต่ถูกอีกฝ่ายบ่ายเบี่ยงบอกว่าไม่มีหน้าที่ไปพบด้วย
คอลเซ็นเตอร์ยังคงไม่ฟังคำชี้แจง บอกว่าอยู่ด้วยกันก็ช่วยแจ้งกันไปให้ชำระเงินด้วย ที่รู้เพราะบริษัทสืบมาแล้ว ตนจึงถามกลับไปว่าบริษัทคุณมีตัวตนหรือไม่ แค่ชื่อก็ไม่น่าเชื่อถือแล้ว รบกวนไปบอกเจ้านายคุณด้วยว่าช่วยเปลี่ยนชื่อให้น่าเชื่อถือกว่านี้หน่อย เพราะดูเหมือนบริษัทจ้างพนักงานไม่ค่อยมีความรู้ และไม่มีมารยาทที่โทร.เข้ามาแบบนี้ เมื่อคอลเซ็นเตอร์ยังไม่เชื่อ อ้างว่าคนชื่อรจนายังรับสายอยู่เลย
ตนจึงถามกลับเพื่อขอเบอร์คนชื่อรจนาเดี๋ยวจะโทรไปเคลียร์เอง แต่คอลเซ็นเตอร์อ้างว่าก็คุณมีเบอร์อยู่แล้ว เขาอยู่กับคุณก็เคลียร์ไปเลย แถมยังว่ากลับว่าคุณนี่พยายามแถไปเรื่อย ตนก็โต้กลับว่าคุณนั่นแหละที่แถ ก็แค่ให้เบอร์มาคือจบ สรุปที่ที่เอ่ยมามีตัวตนหรือเปล่า ทำไมถึงไม่ยอมให้เบอร์ ถ้าอยากจะให้คนกู้ชำระเงินจริงก็ต้องให้เบอร์มาเพื่อให้ตนช่วยโทรไปเคลียร์ ไม่เช่นนั้นเท่ากับแบบนี้คือทีมงานมิจฉาชีพ ซึ่งสุดท้ายคอลเซ็นเตอร์เป็นฝ่ายวางสายไป
จากการตรวจสอบพบว่าสินเชื่อดังกล่าวเป็นแอปฯ เงินกู้ออนไลน์ การกู้เงินคือต้องเติมซื้อเพชรในแอปฯ 599 บาท ก่อนจะมีการให้ยืมเงิน เช่น 1,500 หรือ 2,000 บาท ซึ่งพบว่ามีผู้เสียหายบางส่วนถูกทวงเงินทั้ง ๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
ฝากเตือนภัยไว้เป็นอุทาหรณ์ว่า ถ้าเจอเหตุการณ์เช่นเดียวกับตนให้ตั้งสติให้ดี ๆ แล้วพยายามชักชวนพูดคุยให้ได้ข้อมูลมาให้เยอะที่สุด ว่าคนที่เอาชื่อเราไปอ้างเป็นใครอยู่ที่ไหน หลังจากนั้นก็ควรรีบไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย เพราะคาดว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ลักษณะเช่นนี้น่าจะมีอยู่เป็นจำนวนมาก และมีผู้ที่หลงเชื่อตกเป็นเหยื่ออีกจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว
ข่าวจาก : ข่าวสด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ