เมื่อปี 2533 เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพฯ (Bangkok Elevated Road and Train System-BERTS) หรือ โครงการโฮปเวลล์ โดยลงนามระหว่าง กระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2533 มูลค่าในขณะนั้น 80,000 ล้านบาท
หลังจากนั้นโครงการประสบปัญหาเงินทุน จนกระทั่ง 30 กันยายน 2540 รัฐบาลสั่งการให้โฮปเวลล์หยุดก่อสร้าง หลังจากนั้นโครงการต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง และวันที่ 20 มกราคม 2541 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเลิกสัญญา หลังก่อสร้าง 7 ปี คืบหน้า 13.7%
ความขัดแย้งดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการะงับข้อพิพาทของคณะอนุญาโตตุลาการ และมีคำนิวิจฉัยให้รัฐจ่ายค่าเสียหายกรณีบอกเลิกสัญญา หลังจากนั้นความขัดแย้งดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการศาลปกครอง ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งวันที่ 22 เมษายน 2562 ให้กระทรวงคมนาคม โดย รฟท.ดำเนินการตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ ต้องจ่ายชดเชยให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% แต่กระทรวงคมนาคมและ รฟท.เดินหน้าสู้คดี นำมาสู่คำสั่งศาลปกครองสูงสุดให้รับพิจารณาคดีใหม่ และศาลได้สั่งให้งดบังคับคดี ทำให้ยังไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายและดอกเบี้ย
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ศาลปกครองกลางนัดพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีที่มีคำขอพิจารณาคดีใหม่ คดีที่กระทรวงคมนาคม และ รฟท.ฟ้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการกรณีข้อพิพาทในคดีโฮปเวลล์
โดยตุลาการได้แถลงด้วยวาจามีความเห็นต่อคดีนี้ว่า คดีที่มีการขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้วิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประเด็นของการพิจารณาคดีขาดอายุความนั้น หากนับตั้งแต่วันที่ตั้งศาลปกครองในวันที่ 11 ตุลาคม 2542 จะต้องมีการยื่นคดีต่อศาลภายใน 1 ปี ครบกำหนดในวันที่ 11 ตุลาคม 2543 แต่กลับพบว่าทางโฮปเวลล์ได้ยื่นคดีนี้ต่อตุลาการในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 ล่าช้าถึง 4 ปี ทำให้สิทธิในการฟ้องคดีไม่เป็นผลตามกฎหมาย
ในการพิจารณาดังกล่าว ตุลาการมีความเห็นในการพิจารณาข้อพิพาทครั้งนี้ด้วยว่า
1.ควรเพิกถอนตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่พิจารณาไปก่อนหน้านี้
2.ยกเลิกคำร้องของผู้ร้องคดีทั้งสอง
และ 3.ให้คำสั่งศาลงดบังคับคดีที่เคยพิจารณาไปก่อนหน้านี้ โดยให้มีผลใช้ในช่วงระยะเวลาที่ยังมีการอุทธรณ์คดี หรือจนกว่าศาลจะมีคำตัดสิน
ความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าความพยายามรื้อฟื้นคดีข้อพิพาทโครงการโฮปเวลล์ของกระทรวงคมนาคมเพื่อให้เข้าสู่ขั้นตอนพิจารณาใหม่เป็นผลแล้ว โดยตุลาการเห็นด้วยกับประเด็นของอายุความที่อาจขัดต่อข้อกำหนด เพราะมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า หากนับอายุความเมื่อศาลปกครองเปิดทำการ ที่กำหนดว่าคดีข้อพิพาทก่อนจัดตั้งศาลปกครองนั้น จะต้องยื่นมายังตุลาการภายใน 1 ปี หลังจัดตั้งศาล และมีอายุความไม่เกิน 10 ปี แต่กลับพบว่าคดีโฮปเวลล์นี้ได้มายื่นคำร้องต่อศาลล่าช้ากว่ากำหนด
ล่าสุด วันที่ 18 กันยายน 2566 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท.ชดใช้ค่าโง่โฮปเวลล์ 2.7 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หลังมีการพิจารณาคดีใหม่ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 โดยศาลปกครองกลางเห็นว่า โฮปเวลล์ยื่นฟ้องคดีพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการพ้นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
สำหรับปัจจุบันมูลค่าที่รัฐต้องคืนให้กับโฮปเวลล์จากกรณีการยกเลิกสัญญาก่อสร้างโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร (Bangkok Elevated Road and Train System-BERTS) เป็นวงเงินราว 2.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินต้นตามที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดไว้ที่ 11,888 ล้านบาท รวมอัตราดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี หรือเกิดขึ้นเฉลี่ยวันละ 2.4 ล้านบาท นับจากวันที่คณะอนุญาโตตุลาการตัดสินในปี 2551
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ