เฮ! ปตท.สผ. พบก๊าซหลุมใหม่ที่อุดร 33 ล้านลบ.ฟุต/วัน เตรียมส่งโรงไฟฟ้าน้ำพอง





7 สิงหาคม 2567 ที่หลุมเจาะก๊าซธรรมชาติ PH 14 ฐาน D ริมถนนทางขึ้นไปยังแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศภูฝอยลม อ.หนองแสง จ.อุดรธานี นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี นายไพบูลย์ รัตนะเจริญธรรม ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 10 อุดรธานี พร้อมคณะ เดินทางขึ้นไปตรวจติดตามความคืบหน้า การขุดเจาะและการเผาก๊าซที่พบ เพื่อทดสอบปริมาณก๊าซที่ได้ โดยมีนายจิรายุ กระจ่างบ้าน เจ้าหน้าที่สนับสนุนองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. โครงการสินภูฮ่อม นำคณะวิศวกรโครงการฯ สังเกตการณ์หน้าฐานเจาะ พร้อมชี้แจงและตอบข้อซักถาม

โดยบริเวณ ฐาน D มีการตั้งแท่นเจาะเป็นหอสูง อยู่บนเนินดินด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ รายล้อมด้วยอุปกรณ์ที่อยู่ด้านล่าง ส่วนท่อเผาก๊าซหรือแฟลร์ก๊าซสูง 34 เมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ห่างจากแท่งเจาะราว 100 เมตรเศษ ปลายด้านบนของท่อเผาก๊าซ มีเปลวไฟขนาดใหญ่สูงมากกว่า 10 เมตร พุ่งออกมาตลอดเวลา เกิดเป็นไอร้อนมาสัมผัสผิวหนังรู้สึกได้ อีกทั้งมีกลิ่นเหมือนไอน้ำมันบางๆ และมีเสียงดังเหมือนคำราม จนไม่สามารถพูดคุยกันตามปกติได้ จะต้องใช้การพูดกรอกหู และให้เครื่องขยายเสียงช่วย

นายจิรายุ กล่าวว่า การขุดเจาะที่ฐาน D ใช้เวลาเพียง 1 เดือน ก็ถึงชั้นก๊าซในความลึก 2,655 เมตร ก๊าซที่ออกมาจะถูกเผาต่อเนื่อง 24 ชม. ทั้งกลางวันกลางคืน โดยการเผาเป็นแบบสมบูรณ์ไม่มีควัน มีเพียงคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบชาวบ้านและสิ่งแวดล้อม การเผาดำเนินการมาถึงวันนี้รวม 4 วัน มีปริมาณก๊าซเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สูงสุดมีปริมาณก๊าซออกมา 33 ล้าน ลบ.ฟุต ต่อวัน ซึ่งถือเป็นระดับปริมาณค่อนข้างมาก ขณะนี้อยู่ในช่วงที่จะปิดวาวก๊าซข้างล่าง เพื่อให้สิ้นสุดการเผาในวันนี้

นายจิรายุกล่าวว่า ทางปตท.สผ.จะไม่เจาะลงไปลึกกว่านี้อีกแล้ว จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการถอนท่อเจาะ ระหว่างนั้นหากมีก๊าซค้างในท่อ แล้วไหลออกมาทางปล่องเผา ก๊าซจะถูกจุดให้เผาแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะเกิดการเผาเป็นช่วงๆแต่ปริมาณไม่มาก คาดว่าจะถอดท่อแล้วเสร็จวันที่ 9 สิงหาคมนี้ จากนั้นก็จะเป็นการเตรียมหลุมให้สมบูรณ์ เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตในอนาคต เสร็จแล้วราววันที่ 12 สิงหาคมนี้จะเป็นการรื้ออุปกรณ์แท่นเจาะ ทำการขนย้ายทั้งหมดออกจากพื้นที่ไป จ.กำแพงเพชร คาดว่าจะใช้เวลาอีกราว 7-10 วัน

นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี สอบถามถึงการเฝ้าระวังผลกระทบ ได้รับคำตอบว่า ฐาน D อยู่ในบริเวณชุมชนสังเกตเหตุ เพราะตั้งอยู่บนภูเขาตัวอำเภอ ต่างจากฐานอื่นที่เคยเจาะ จะอยู่ภูเขาอีกด้าน ซึ่งได้ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน 17 หมู่บ้าน จัดทีมเฝ้าติดตามตลอด 24 ชม. พร้อมกับเครื่องมือตรวจวัด อากาศ , น้ำผิวดิน , น้ำใต้ดิน และแมลง ตั้งแต่ก่อนการเผาก๊าซ และมีการตรวจเก็บระหว่างเจาะ และหลังเจาะอีกครั้ง ซึ่งโดยธรรมชาติก๊าซที่ออกมาคือ “มีเทน” ไม่มีกลิ่น เมื่อเผาจะเหลือเพียงคาร์บอนไดออกไซด์ จะมีปัญหาที่รับมาเป็นเรื่องความรู้สึก อาทิ เสียงของก๊าซที่เพิ่งออกมาดัง และแสงไฟที่เกิดจากการเผา ทำให้เกิดแสงสว่างบริเวณนี้และโดยรอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การเจาะก๊าซแหล่งสินภูฮ่อมมี 4 ฐาน ฐาน A ตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น เจาะไปแล้วได้ก๊าซ 2 หลุม ซึ่งเป็นฐานรวมท่อก๊าซก่อนส่งไป อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ระยะทาง 64 กม. , ฐาน B ตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.อุดรธานี เจาะไปแล้วได้ก๊าซ 3 หลุม , ฐาน C ตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.อุดรธานี เจาะไปแล้วได้ก๊าซ 6 หลุม ขณะนี้ทั้ง 11 หลุมใน 3 ฐาน ได้ส่งก๊าซไปโรงแยกก๊าซ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เพื่อส่งต่อไปผลิตกระแสไฟฟ้า 108 ล้าน ลบ.ฟุต ต่อวัน สำหรับฐาน D อยู่ในพื้นที่ จ.อุดรธานี เคยเจาะไปแล้ว 1 หลุม เมื่อ 20 ปีก่อนแต่ไม่ได้นำขึ้นมาใช้ ครั้งนี้เจาะเพิ่มอีก 1 หลุมและพบก๊าซสูงสุด 33 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน แต่ยังอยู่ในขั้นตอนต่อท่อไปยังฐาน A เพื่อส่งต่อไป อ.น้ำพอง

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: