14 ส.ค.2567 ศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญ และเป็นที่สนใจ เรื่องพิจารณาที่ 17/2563 กรณีประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบ มาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
โดยศาลมีคำวินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตน เป็นการก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ อาจจะกระทบกระเทือนต่อศรัทธาของประชาชน
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การที่นายเศรษฐา รู้หรือควรรู้ข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับพฤติการณ์ของนายพิชิต โดยตลอดแล้ว แต่ยังเสนอแต่งตั้งให้นายพิชิต เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ แสดงให้เห็นว่า นายเศรษฐา ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 160 (4) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ หมวด 1 ข้อ 8 ซึ่งข้อ 27 กำหนดให้การฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง ต้องห้ามตามมาตรา 160 (5) ด้วย
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียงวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลง เฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติ 160 (4) และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง ลักษณะต้องห้ามตาม 160 (5) เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลง ตามมาตรา 170 (4) แล้ว รัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะ ตามรัฐธรรมนูญ 167 วรรคหนึ่ง (1) มาใช้บังคับการปฏิบัติหน้าที่ของ ครม.ที่พ้นตำแหน่งต่อไป
ข่าวจาก : bangkokbiznews
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ