คารวะการจากไปของ “มิตร ชัยบัญชา” พระเอกตลอดกาล





8 ตุลาคม 2513 คือวันที่พระเอกภาพยนตร์ไทยระดับตำนาน “มิตร ชัยบัญชา” หรือ “พ.อ.ท. พิเชษฐ์ พุ่มเหม” จากไปด้วยอุบัติเหตุตกจากการโหนเฮลิคอปเตอร์ ขณะถ่ายทำฉากสุดท้ายในภาพยนตร์เรื่อง “อินทรีทอง” ที่หาดดงตาล อ่าวพัทยาใต้ จังหวัดชลบุรี ขณะอายุเพียง 36 ปี

 

 

 

“มิตร ชัยบัญชา” เกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2477 ชื่อจริง พันจ่าอากาศโท พิเชษฐ์ พุ่มเหม เป็นชาวจังหวัดเพชรบุรี เริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงปลายปี 2499 เป็นพระเอกภาพยนตร์ไทยในช่วง พ.ศ. 2500-2513 มีผลงานเด่นในช่วง พ.ศ. 2501-2517 ที่เป็นยุคเฟื่องฟูของภาพยนตร์ 16 มม. มีผลงานขณะนั้นนับได้ 300 กว่าเรื่อง

มิตรเกิดที่ตลาดท่ายาง จ. เพชรบุรี โดยไม่ทราบวันเดือนปีเกิดที่แน่นอน จึงแจ้งเกิดเมื่อ 1 มกราคม ต่อมาเป็น ” 28 มกราคม 2477 ปีจอ แรม 9 ค่ำเดือนยี่ เวลา 11.58 น. ” พ่อชื่อ พลตำรวจชม ระวีแสง ส่วนแม่ชื่อ สงวน (ยี) ระวีแสง (อินเนตร) เมื่อแรกเกิด ชื่อ “บุญทิ้ง”

เมื่อถึง 1 ขวบ พ่อหายไปจากบ้าน แม่เลี้ยงบุญทิ้งเพียงผู้เดียว จากนั้นแม่ก็เอาเด็กคนนี้ไปทิ้งให้ปู่รื่น-ย่าผาด เลี้ยงจนถึง 5 ขวบ ช่วงอายุ 4 ขวบ ปู่กับย่าก็ให้หลานชายไปอยู่กับหลวงอาแช่ม น้องชายของพ่อแท้ๆ ขณะนั้นบวชเณร ที่วัดสายค้าน บ้างว่า วัดท่ากระเทียม และตามมาอยู่ด้วยกันที่วัดสนามพราหมณ์ เพชรบุรี จนอายุ 8 ขวบ ช่วงนี้เรียนหนังสือที่โรงเรียน ประชาบาลวัดจันทร์

ระหว่าง อายุ 8-20 ปี แม่มารับไปอยู่กรุงเทพฯ ที่บ้านเลขที่ 207 ถนนพะเนียง หน้าวัดแค นางเลิ้ง เนื่องจากพ่อหายตัวไปอีกครั้ง ไม่กลับมาที่บ้านปู่ย่าเหมือนเคย นางยีให้ลูกชายเรียกว่า “ป้า” บุญทิ้งเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “สุพิศ นิลศรีทอง” ซึ่งยืมนามสกุลมาจาก “บรรจบ นิลศรีทอง” น้องเขยของแม่ ชื่อนี้ใช้ถึงอายุ 19 ปี ช่วงจังหวะที่อยู่กทม.นี้ เรียนหนังสือที่โรงเรียนไทยประสาทวิทยา ถนนหลานหลวง จนจบ ม.6 หลักฐานใบเกิดว่าเป็นลูกของบรรจบ เพื่อที่จะรับสิทธิ์การเบิกค่าเล่าเรียน

เปลี่ยนชื่ออีกครั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เมื่ออายุ 20 เป็น “พิเชษฐ์ พุ่มเหม” ซึ่งเป็นนามสกุลของพ่อเลี้ยงชื่อเฉลิม และเข้าเรียนที่ โรงเรียนศิษย์การบิน รุ่น ป. 15 นครราชสีมา ช่วงนั้น ขณะเข้าเวร มีเพื่อนนักเรียน ขโมยเครื่องบินไปลาว จึงถูกสอบสวน จากนั้นได้ย้ายมาเรียนต่อที่ โรงเรียนจ่าอากาศโยธิน ดอนเมือง และเป็นครูฝึกในเวลาต่อมา พออายุได้ 22 ปี ได้ประดับยศ “จ่าอากาศโท”

ในปีนี้ 2500 ได้เริ่มทำงานบันเทิงด้วย จนปี 2506 ได้ลาออกจากราชการ เมื่ออายุ 28 ปี ประดับยศ “พันจ่าอากาศโท” เวลานั้น มิตรได้เข้าสู่วงการภาพยนตร์มา 6 ปี ในปีแล้ว ด้วยเหตุว่าภาพยนตร์ตนเองหันมาเป็นผู้สร้าง “เหยี่ยวดำ” ถูกสั่งให้เปลี่ยนชื่อจากชื่อเดิม “ครุฑดำ” เนื่องจากผู้ใหญ่ในแวดวงราชการไม่พอใจที่นำครุฑซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แวดวงราชการให้ความเคารพนับถือมาใช้อย่างไม่เหมาะสม

ภาพยนตร์ดังกล่าวเข้าฉายที่โรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง เขายืนแจกภาพถ่ายที่สวมเครื่องแบบทหารอากาศ และกล่าวกับแฟนหนังว่า

“…ถึงแม้ว่าได้เลือกอาชีพการแสดงภาพยนตร์เพื่อการเลี้ยงชีพ แต่ทั้งร่างกายและจิตใจของผม คือ ทหาร ผมรักเครื่องแบบทหาร ชื่อเสียงความนิยมที่ประชาชนมอบให้ผมในฐานะนักแสดง ผมก็ถือว่าเป็นชื่อเสียงของกองทัพอากาศเช่นกัน การให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ทุกครั้ง ผมไม่เคยลืมที่จะกล่าวถึง การเป็นทหารอากาศ มากกว่าการให้สัมภาษณ์อย่างอื่น ถึงแม้ว่าการแสดงจะเป็นภาระจนทำให้ผมต้องตัดสินใจลาออก แต่จิตใจของผมและทั้งตัว คือ ทหารอากาศ …”

นับเป็นการจบเส้นทางหารอากาศอย่างสมบูรณ์ หลังจากที่เขาทำทั้ง 2 งาน คืองานราชการกับงานแสดง โดยใช้วันลาตามสิทธิอย่างเต็มที่ สลับไปถ่ายภาพยนตร์

เมื่ออายุ 33 ปี ใช้ชื่อ พิเชษฐ์ แต่เปลี่ยนสกุลใหม่ เป็น “ชัยบัญชา”

ก่อนเข้าสู่การแสดงภาพยนตร์ “จ่าอากาศโทสมจ้อย” เป็นคนพามิตรไปรู้จักกับ “กิ่ง แก้วประเสริฐ” ซึ่ง กิ่ง ได้แนะนำให้ “ประทีป โกมลภิศ” ดูตัวที่โรงแรมผ่านฟ้า ถนน นครสวรรค์ ดูตัวแล้ว ประทีป นัด “รังสรรค์ ตันติวงศ์” ผู้อำนวยการสร้าง “ชาติเสือ” พบที่โรงแรมเวียงใต้อีกครั้งหนึ่งเพื่อตัดสินใจ รังสรรค์ให้เงิน 3 พันบาทเพื่อให้มิตรไปปรับลุค ตัดผม , ซื้อเสื้อผ้า-กางเกง รองเท้าใหม่ เตรียมตัวเป็นพระเอกใหม่ของวงการ

ในปี 2499 เริ่มถ่ายทำ “ชาติเสือ” ซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่โคกสำโรง จ. ลพบุรี เรื่องนี้ เขาเล่นคู่กับเรวดี ศิริวิไล กวาดรายได้กว่า 8 แสนบาท

ประทีป โกมลภิศ เป็นคนที่ตั้งชื่อ-นามสกุลในการแสดง จาก พิเซษฐ์ พุ่มเหม เป็น “มิตร ชัยบัญชา” โดยประทีปถามพิเชษฐ์ 2 ข้อว่า

1. ในชีวิตสิ่งใดสำคัญที่สุด มิตรตอบว่า “เพื่อนครับ” ประทีปบอกว่า “เพื่อน คือ มิตร เมื่อรักเพื่อนก็เก็บเพื่อนไว้กับตัว งั้นใช้ชื่อใหม่ว่า ‘มิตร’ ก็แล้วกัน”

2. ในชีวิตเกิดมาภูมิใจสิ่งใดมากที่สุด มิตรตอบว่า “ได้อัญเชิญธงชัยเฉลิมพลในพิธีสวนสนามวันปิยมหาราชครับ” มิตรได้อัญเชิญธงชัยเฉลิมพล ซึ่งถือว่าเป็นเกียรติยศสูงสุด และเขาได้ทำหน้าที่นี้ทุกปีตลอดการเป็นทหารของเขา จึงเป็นที่มาของนามสกุล “ชัยบัญชา”

มิตร ชัยบัญชา มีจุดยืนในการทำงานว่า

  • ความดีไม่สร้าง ไม่มีทางเป็นผู้ทรงเกียรติ ความชั่วไม่สร่าง ไม่มีทางสงบสุข
  • สร้างสมแต่เมตตา ผลตามมาคือความสุข สร้างสมแต่ความเกลียดชัง ผลตามมาคือความทุกข์
  • จะกตัญญูรู้คุณ
  • จะซื่อสัตย์ต่ออาชีพ
  • จะตรงเวลานัดหมาย
  • จะกตัญญูรู้คุณที่ได้รับความเมตตาจากประชาชน
  • จะยุติธรรม รักษาคำพูด
  •  จะไม่ลืมตัว
  • จะช่วยงานกุศลเท่าที่สามารถจะช่วยได้

ในช่วงอายุ อายุ 32 ปี ในปี 2509 ถือได้ว่าเป็นปีที่อาชีพนักแสดงของ มิตร ชัยบัญชา เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าไม่หยุดโดยเทียบดูจากจำนวนภาพยนตร์ไทยที่เข้าฉายตลอดทั้งปี จำนวน 71 เรื่อง เป็นภาพยนตร์ไทยที่นำแสดงโดย มิตรชัยบัญชา เข้าฉายมากถึง 38 เรื่อง แสดงนำคู่กับนางเอกคู่ขวัญ เพชรา เชาวราษฎร์ มากถึง 30 เรื่อง ถือว่าสถิติของดาราคู่ขวัญ มิตรคู่เพชรา  แม้ในปัจจุบันก็ยังไม่มีพระเอก-นางเอกคู่ใดจะสามารถทำลายสถิติลงได้

สำหรับภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดเรื่องแรกคือเรื่อง ใจเพชร เมื่อ พ.ศ. 2506 ต่อมามีภาพยนตร์ที่สร้างรายได้เกินล้านอีกหลายเรื่อง จนทำให้มิตร ชัยบัญชา ได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานรางวัล “โล่เกียรตินิยม” นักแสดงนำชาย ที่ทำรายได้สูงสุด จากภาพยนตร์ เรื่อง เงิน เงิน เงิน ซึ่งทำรายได้สูงเป็นประวัติการณ์ของหนังไทยเมื่อ พ.ศ. 2505 ต่อมาภาพยนตร์เรื่อง เพชรตัดเพชร ทำรายได้ทำลายสถิติเงิน เงิน เงิน ได้ 3 ล้านบาท

และอีกหนึ่งช่วงสำคัญของชีวิตพระเอกคนดังในค่ำคืนของวันที่ 24 มีนาคม  2510พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานรางวัล “ดาราทอง” ของสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย ณ เวทีลีลาศ สวนอัมพร โดยผู้เข้าเฝ้ารับพระราชทานรางวัลในสาขานักแสดงภาพยนตร์ฝ่ายชาย ผู้ชนะเลิศได้คะแนนโหวตสูงสุดได้แก่ มิตร ชัยบัญชา

 

เสี้ยวชีวิตหนึ่งของมิตร ยังเคยเข้าสู่สนามการเมือง เป็นดาราไทยคนแรก ๆ ที่สนใจการบ้านการเมือง ปี 2511 มิตร หรือชื่อจริง “พิเชษฐ์ ชัยบัญชา” ลงสมัครสมาชิกสภาเทศบาล จังหวัดพระนคร ในนามกลุ่มหนุ่ม เขตบางรัก ยานนาวา สัมพันธวงศ์ ป้อมปราบ แต่ก็ไม่ได้รับเลือก

และในการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2512 เขาก็ตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.จังหวัดพระนคร (เวลานั้น ยังแยกเป็น จ.พระนคร และ จ.ธนบุรี) ในนามผู้สมัครอิสระก็พ่ายแพ้เช่นกัน ด้วยว่ากันว่า เพราะมิตรลงเลือกตั้งในชื่อจริง “พิเชษฐ์ ชัยบัญชา” ชาวบ้านจึงไม่รู้จัก บ้างก็ว่ากันว่า เป็นเพราะชาวบ้านกลัวว่าหากมิตรเข้าสู่การเมือง จะไม่ได้กลับมาแสดงภาพยนตร์เป็นขวัญใจชาวบ้านอีก (อ่านเพิ่มเติม : https://www.bangkokbiznews.com/politics/1021820)

 

ซึ่งในการลงการเมืองนี้เอง ทำให้ต้องมีอันเลิกรากับ “กิ่งดาว ดารณี” เนื่องจากเคยให้สัญญาไว้เมื่อพ่ายเลือกตั้งครั้งแรกว่าจะไม่กลับไปเล่นการเมืองอีก

 

แม้การเสียชีวิตของเขาจะยังเป็นที่ถกเถียงกันจนกระทั่งปัจจุบันว่าเกิดจากอะไรกันแน่ แต่ชีวิตของเขาถือเป็นตัวอย่างของคนทำงานที่มีความทุ่มเทในทุกด้าน และหากมองเรื่องของแวดวงคนทำงานภาพยนตร์ ก็ทำให้ถูกตั้งคำถามถึงชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม และมาตรฐานความปลอดภัย เนื่องจากก่อนจะเสียชีวิต มิตรได้โหมถ่ายภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง มีเวลาพักผ่อนน้อย

อ้างอิง
https://mgronline.com/drama/detail/9640000098787
– https://www.bangkokbiznews.com/politics/1021820

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: