อุตุฯเตือน! 33 จังหวัด เตรียมรับฝนรอบใหม่ 14 ส.ค. มรสุมจ่อถล่มทุกภาคทั่วไทย!!!





อุตุฯเตือน 33 จังหวัดทั่วประเทศรับมือฝนตกหนักระลอกใหม่ถึง 14 ส.ค. โดยเฉพาะภาคเหนือ อีสานตอนบน ภาคตะวันออก และใต้ สั่งรับมือให้พร้อม ด้านนายอำเภอแก่งกระจาน เพชรบุรี ประกาศ 10 หมู่บ้านเป็นเขตภัยพิบัติหลังถูกน้ำท่วมหนัก มี 2 โซนทั้งใต้เขื่อนแก่งกระจานที่แม่น้ำเพชรบุรีไหลผ่าน และที่อยู่เหนือเขื่อน เตรียมขนข้าวสารอาหารแห้งไปช่วยเหลือชาวบ้าน โป่งลึก บางกลอย เชียงใหม่ อ่วมหลังฝนตก หนักท่วมกลางเมือง สูง 50 ซ.ม. 

“วาฟ-รอม”เตือนฝนถล่ม 

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. แบบจำลองสภาพอากาศ (วาฟ-รอม) ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) แจ้งว่า ประเทศไทยอาจมีฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยเฉพาะบริเวณ จ.เชียงราย, พะเยา, น่าน, แม่ฮ่องสอน, ตาก, เลย, หนองคาย, บึงกาฬ, นครพนม, อุดรธานี, สกลนคร, กาฬสินธุ์, มุกดาหาร, อำนาจเจริญ, อุบลราชธานี, กาญจนบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี, นครนายก, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, จันทบุรี, ตราด, ระนอง, พังงา, กระบี่, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ทั้งนี้เขื่อนแก่งกระจานและเขื่อนน้ำอูนมีระดับน้ำเต็มความจุเก็บกักแล้ว และยังคงมีน้ำไหลลงเขื่อนเพิ่มขึ้น

วาฟระบุด้วยว่า ประเทศไทยมีฝนตกปานกลางถึงตกหนักในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางภาคตะวันออก ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากเกิดขึ้นหลายแห่ง โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณจ.สุราษฎร์ ธานี 138 มิลลิเมตร พังงา 128 มิลลิเมตร มุกดาหาร 88.2 มิลลิเมตร ตราด 85 มิลลิเมตร ระนอง 82 มิลลิเมตร ชุมพร 82 มิลลิเมตร ลำปาง 54 มิลลิเมตร เชียงราย 50 มิลลิเมตร และปราจีนบุรี 36 มิลลิเมตร

ส่วนลำน้ำสายหลักในประเทศไทยเพิ่มขึ้น จากฝนที่ตกหนักในช่วงที่ผ่านมาบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างที่ยังคงมีปริมาณฝนน้อยต่อเนื่อง โดยเฉพาะแม่น้ำมูนตอนบนมีระดับน้ำน้อย สำหรับภาคกลางมีระดับปานกลางถึงน้ำมาก และภาคใต้มีระดับปานกลางถึงน้ำมาก

ระดับน้ำเพชรบุรีล้นตลิ่ง 

สำหรับแม่น้ำเพชรบุรี ปริมาณน้ำที่ล้นออก ทางระบายน้ำล้น ทำให้แม่น้ำเพชรบุรีมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม่น้ำเพชรบุรีช่วง ต.กลัดหลวง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ระดับน้ำล้นตลิ่ง แนวโน้มระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ที่ ต.ต้นมะม่วง อ.เมือง จ.เพชรบุรี ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 0.54 เมตร แนวโน้มระดับน้ำทรงตัว

ขณะที่สถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของไทย วันที่ 9 ส.ค. ปริมาณน้ำกักเก็บรวมทั้งประเทศอยู่ร้อยละ 70 โดยน้ำไหลลงเขื่อนมากกว่าค่าเฉลี่ย และอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ซึ่งเขื่อนแก่งกระจาน มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 103 สถานการณ์น้ำมีน้ำเกินความจุเก็บกัก

เขื่อนวชิราลงกรณ มีปริมาณน้ำกักเก็บ ร้อยละ 85 สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก ยังรับน้ำได้อีก 1,323 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ส่วนเขื่อนน้ำอูน มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 103 มีน้ำเกินความจุเก็บกัก

ด้านเขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 87 สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก ยังรับน้ำได้อีก 2,284 ล้านลบ.ม.

เหนือ-อีสานตอนบนฝนยังหนัก 

วาฟระบุอีกว่า สำหรับสถานการณ์ฝนช่วงวันที่ 9-11 ส.ค.นั้น ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมประเทศไทยและทะเลอันดามันยังคงมีกำลังแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำที่ก่อตัวในทะเลจีนใต้และจะเคลื่อนตัวขึ้นปกคุลมเกาะไหหลำ ทำให้ร่องมรสุม ยังคงพาดภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ส่งผลให้ประเทศไทยยังคงมีฝนเพิ่มมากขึ้น

โดยจะมีฝนตกหนักจากอิทธิพลของร่องมรสุมในภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน รวมทั้งแนวปะทะของลมมรสุมในด้านตะวันตกของประเทศ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะบริเวณจ.เชียงราย พะเยา น่าน แม่ฮ่องสอน ตาก เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม อุดรธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา กระบี่, ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

สำหรับช่วงวันที่ 12-15 ส.ค. หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมเกาะไหหลำอาจทวีกำลัง แรงขึ้น และเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศจีนตอนใต้ ทำให้ร่องมรสุมเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศพม่าตอนบนและประเทศเวียดนามตอนบน ส่งผลให้ภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนจะมีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องได้บางแห่ง ส่วนลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงมีกำลังแรง ส่งผลให้แนวปะทะของลมมรสุมในด้านตะวันตกของประเทศ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง

น้ำลงเขื่อนแก่งกระจานลดลง 

วันเดียวกัน นายสุธี เล้าสุบินประเสริฐ นายอำเภอแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เผยว่า สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่อ.แก่งกระจาน อยู่ในสภาวะทรงตัว แต่มีข่าวน่ายินดีคือน้ำบริเวณต้นน้ำเพชรบุรีที่อยู่เหนือเขื่อนขึ้นไปในป่าแก่งกระจานมีปริมาณลดลงอย่างมาก รออีกไม่กี่วันคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ หมู่บ้าน โป่งลึก-บางกลอย ที่เป็นหมู่บ้านต้นน้ำ เป็นตัว ชี้วัดว่าจะมีปริมาณน้ำลงมาในเขื่อนแก่งกระจาน มากน้อยเพียงใด ก็อยู่ที่ 2 หมู่บ้านนี้ จากการรายงานของผู้นำชุมชนในพื้นที่ ทราบว่าน้ำลดลงมากแล้ว รถยนต์ที่เป็นรถปิกอัพยกสูงและรถบรรทุกสามารถวิ่งผ่านไปได้แล้ว ซึ่งทางอำเภอเตรียมขนเสบียง ข้าวสารอาหารแห้ง ถุงยังชีพ เข้าไปมอบให้กับชาวบ้านที่หมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย ในวันเสาร์นี้

ส่วนสถานการณ์น้ำที่ไหลลงมาอยู่ในเขื่อน แก่งกระจานขณะนี้เป็นปริมาณน้ำที่ตกค้างอยู่เนื่องจากในพื้นที่ฝนไม่ตก 3 วันแล้ว ปริมาณน้ำในเขื่อนแก่งกระจานที่ยังมีปริมาณเข้าเพิ่มนั้นเป็นน้ำที่ตกค้างในป่า ข้อมูลพบว่าปริมาณน้ำที่ไหลเข้ามาในเขื่อนแก่งกระจานจำนวน 20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และระบายออกทางสปิลเวย์และช่องทางปกติรวมวันละ 18 ล้านลบ.ม. ถือว่าเป็นสถิติที่ดีขึ้นกว่าช่วงที่ ผ่านมา

10 หมู่บ้านเป็นเขตภัยพิบัติ 

“ส่วนพื้นที่ประสบอุทกภัยของอ.แก่งกระจาน ทางอำเภอประกาศเขตประสบภัยพิบัติ 10 หมู่บ้าน แบ่งออกเป็น 2 โซน โซนแรกอยู่ใต้เขื่อนแก่งกระจาน ที่แม่น้ำเพชรบุรีผ่านมี 3 หมู่บ้าน คือหมู่ 1 และ หมู่ 3 ต.แก่งกระจาน และหมู่ 1 ต.สองพี่น้อง น้ำท่วมพื้นที่ติดแม่น้ำเพชรบุรีกว่า 10 เมตร จะมีบ้านเรือนประชาชน 10 หลัง ซึ่งจะท่วมไม่มาก แต่ที่ท่วมมากคือรีสอร์ตที่อยู่ติดแม่น้ำ ผลสำรวจ มีรีสอร์ตที่ถูกน้ำท่วมบ้านพักจำนวน 10 แห่ง และอีก 42 แห่งเป็นการท่วมพื้นที่ริมตลิ่งและสนามหญ้า

ส่วนอีก 10 แห่งไม่ได้รับผลกระทบ ขอยืนยันว่ารีสอร์ตทุกแห่งยังสามารถให้บริการ นักท่องเที่ยวอยู่ ข่าวที่ออกไปก่อนหน้านี้ทำให้เกิดสถานการณ์ลูกค้าของรีสอร์ตต่างๆ สั่งคืนห้องหรือเลื่อนการใช้บริการออกไป ส่งผลให้ผู้ประกอบการเดือดร้อน จึงขอทำ ความเข้าใจว่าน้ำที่ท่วมในพื้นที่ด้านล่างท้ายเขื่อนแก่งกระจาน จะท่วมเฉพาะพื้นที่ริมตลิ่งแม่น้ำเพชรบุรีเท่านั้น ถนนทุกเส้นทางไม่มีน้ำท่วม ยังสามารถสัญจรได้ตามปกติ”

“ส่วนหมู่บ้านอีก 7 แห่ง ที่ประสบอุทกภัยจะอยู่ริมอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน อยู่ด้านเหนือเขื่อนขึ้นไปมี 2 หมู่บ้าน คือบ้านโป่งลึก บางกลอย จะอยู่ในป่าต้นน้ำ ที่มีข่าวว่าถูกน้ำท่วมจนตัดเส้นทางสัญจรนั้น เป็นเรื่องจริง แต่ปัจจุบันน้ำลดลงจนเส้นทางเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ แล้ว ชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวถูกน้ำท่วมแล้วก่อนจะน้ำท่วมอีกครั้ง ทางอำเภอและอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขนเสบียงข้าวสาร อาหารแห้งขึ้นไปช่วยเรียบร้อยโดยใช้เฮลิคอปเตอร์ แต่ตอนนี้อาหารเริ่มหมด

จึงเตรียมจัดสิ่งของขึ้นไปให้อีกครั้ง โดยจะร่วมกับอีกหลายหน่วยงาน ส่วนอีก 5 หมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วมจะอยู่ริมอ่างเก็บน้ำแก่งกระจานทั้งหมด เช่น บ้านพุเข็ม บ้านท่าลิงลม บ้านแม่ประดน มีชาวบ้านได้รับผลกระทบพอสมควร เช่นหมู่บ้านพุเข็ม หมู่ 10 มีชาวบ้านเดือดร้อน 50 หลัง เบื้องต้น ทางอำเภอ้าไปให้การช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว ส่วนหมู่บ้านที่เหลือส่วนใหญ่สิ่งปลูกสร้างที่ถูกน้ำท่วมจะเป็น บ้านพักแบบโฮมสเตย์ หรือบ้านพักหลังเล็กๆ ที่ชาวบ้านมาสร้างอยู่ริมเขื่อน หรือเป็นเรือนพัก เมื่อภาพถ่ายออกมาถูกน้ำท่วม เหลือแต่หลังคา ทำให้ดูน่ากลัว แต่ความเป็นจริงไม่ใช่ ที่อยู่อาศัยหลัก ทางอำเภอตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบ รวมทั้งเป็นโรงทานด้วย”

“ยังมีอีก 1 ตำบลของอำเภอแก่งกระจานที่เข้าไปช่วยเหลือ คือต.ป่าเด็ง ที่อยู่ห่างจากตัวอำเภอเกือบ 100 ก.ม. ภายในตำบลได้รับความเดือดร้อนจากกระแสน้ำจากเทือกเขาไหลไปลงแม่น้ำปราณบุรี ทำให้ระหว่างเส้นทาง น้ำไหลผ่านได้รับผลกระทบถูกน้ำท่วมบ้าง น้ำท่วมทางสัญจรสายหลักเข้าหมู่บ้าน กระแสน้ำทำให้ที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหาย

ฝนหนักท่วมเมืองเชียงใหม่ 

เมื่อเวลา 14.30 น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝนตก หนักในตัวเมืองเชียงใหม่ ทำให้น้ำท่วมขังในตัวเมืองหลายจุด ย่านถนนพระปกเกล้า ถนนราชดำเนิน ถนนเมืองสมุทร ย่านตลาดประตูก้อม และอีกหลายจุดน้ำท่วมขังรอการระบาย ระดับน้ำสูง 20-30 ซ.ม บางจุดสูงถึง 50 ซ.ม. ส่วนที่แยกข่วงสิงห์มีน้ำท่วมขังรอการระบาย เจ้าหน้าที่ตำรวจนำแผงเหล็กมาตั้งเพื่อเตือนให้ใช้ความระมัดระวัง

นอกจากนี้น้ำท่วมขังถนนราชดำเนิน หน้าโรงพักกองเมืองยาวถึงข่วงประตูท่าแพ น้ำท่วมขังระบายช้า เจ้าหน้าที่จราจรปิดกั้นการจราจรถ.ราชดำเนินไปจนถึงหลังประตูท่าแพ แยกวัดพันอ้น เนื่องจากมีน้ำท่วมขังจำนวนมาก น้ำเอ่อเข้าท่วมร้านผู้ประกอบการสองข้างทาง

อุตุฯเตือน 33 จว.รับมือฝนถล่ม 

วันเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศ เตือนฉบับที่ 21 เรื่อง “คลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้ และฝนตกหนักบริเวณประเทศไทย” ว่า ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งโดยเฉพาะภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่มด้วย

โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบตามภาคต่างๆ มีดังนี้ ภาคเหนือ จ.เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย สกลนคร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด ภาคใต้ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่

สำหรับบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร อ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง ต่อไปอีก จนถึงวันที่ 14 ส.ค.

เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และ อ่าวไทยยังคงมีกำลังแรงต่อเนื่องจนถึงวันที่ 14 ส.ค. ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและ อ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง ขอให้ประชาชน ติดตามประกาศจากกรมอุตุฯอย่างใกล้ชิด

ขอบคุณที่มา : กรมอุตุนิยมวิทยา

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: