รอบนี้ของจริง! จ่อคลอดกฎหมายไซเบอร์ ล้วงลับถึงโพสต์-ไลน์-แชต ได้!! โดยไม่ต้องขอหมายศาล!!





 

ตื่นเถิดชาวโซเชียล! จับตา 22 ก.พ.นี้ สนช.จ่อคลอดกฎหมายไซเบอร์ ซึ่งเคยถูกกระแสต้านและไม่ไว้วางใจไปแล้ว เพราะกรณีจำเป็นล้วงตับโพสต์ ไลน์ แชต ได้ อำนาจล้นค้นได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 22 ก.พ.นี้ จะมีวาระการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือ ร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ ที่กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วในวาระ 2-3

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีสาระสำคัญกำหนดให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) มีหน้าที่กำหนดนโยบายบริหารจัดการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธาน

สำหรับกรณีเกิดเหตุการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ร้ายแรงให้ กกม.มีอำนาจออกคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์รวบรวมข้อมูลพยานเอกสาร พยานบุคคล เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และประเมินผล และให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปในสถานที่ ที่คาดว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามโดยได้รับความยินยอมจากผู้ครอบครองสถานที่นั้น รวมถึงมีคำสั่งให้หน่วยงานรัฐสนับสนุนอำนาจค้นได้ไม่ต้องมีหมายศาล

นอกจากนี้ กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน และเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับวิกฤติ มาตรา 67 ให้ กมช.มอบหมายให้เลขาธิการ กมช.มีอำนาจดำเนินการได้ทันทีเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันและเยียวยาความเสียหายก่อนล่วงหน้าได้ โดยไม่ต้องยื่นคำร้องต่อศาล แต่หลังจากการดำเนินการดังกล่าว ให้แจ้งรายละเอียดการดำเนินการดังกล่าว ต่อศาลที่มีเขตอำนาจทราบโดยเร็ว และในกรณีร้ายแรงหรือ วิกฤติ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและลดความเสี่ยง ให้เลขาธิการ กมช.โดยความเห็นชอบของ กกม.มีอำนาจขอข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และต่อเนื่องจากผู้เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยผู้นั้นต้องให้ความร่วมมือ และให้ความสะดวกแก่ กกม.โดยเร็ว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อประมาณปลายปี 2561 มีความพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ได้รับแรงต้านและเกิดความกังวลขึ้นในสังคม เนื่องจากมองว่า ให้อำนาจคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติและคณะกรรมการอื่นๆ ตามกฎหมายดังกล่าวมาก และไม่มีหน่วยงานคานอำนาจทันท่วงที เช่น การเข้าตรวจสอบข้อมูลโดยไม่ต้องขอหมายศาล เป็นต้น โดยเฉพาะการส่องแชตของบริการต่างๆ เช่น ไลน์และเฟซบุ๊ก เป็นต้น จนนายกฯ ต้องสั่งทบทวนและมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม

ข่าวจาก : ไทยรัฐออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: