เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ถึงการใช้แอพพลิเคชั่น SydeKick สำหรับใช้ในการติดตามผู้ที่จำเป็นต้องกักกันตัวในบ้าน ว่า แอพพลิเคชั่นดังกล่าวทำมาแล้วตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยใช้ระบบเอโอที (AOT) ทั้งหมด ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีทั้งจากบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และกระทรวงคมนาคม ซึ่งกรณีของกลุ่มคนที่ใช้แอพพลิเคชั่นมี 2 กลุ่ม คือ นักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ได้มีการประสานให้โหลดแอพพลิเคชั่นและกรอกข้อมูล ซึ่งในแอพพลิเคชั่นจะมีการถ่ายรูปพาสปอร์ต บอร์ดดิ้งพาส โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บไว้ที่กรมควบคุมโรค ส่วนกลุ่มอื่นๆ ที่เดินทางเข้ามา ขณะนี้กำลังประสานกับกระทรวงคมนาคมในการขอความร่วมมือตั้งแต่ต้นทาง คือเมื่อกลุ่มคนดังกล่าวเดินทางเข้ามาประเทศไทย อาจจะขอให้มีวิดีโอสั้นๆบนเครื่องบิน เพื่อขอความร่วมมือว่าเมื่อลงจากเครื่องบินให้กรอกข้อมูล เพื่อจะได้ไม่เสียเวลา
นอกจากนี้ กำลังประสานกับนักท่องเที่ยวที่อาจจะเริ่มมีปัญหาไม่ได้เตรียมโทรศัพท์มือถือหรือเบอร์ ก็จะพยายามประสานสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อาจจะขอซิมการ์ดฟรี 14 วันให้คนกลุ่มดังกล่าว เพื่อให้คนที่เข้าประเทศไทยสามารถสื่อสารกันได้ตลอดเวลา ส่วนกลุ่มที่เข้ามาแล้ว และถูกส่งตัวไปยังภูมิลำเนา หรือไปกักตัวที่บ้าน ซึ่งจะใช้แอพพลิเคชั่นเอโอทีเหมือนกัน แต่จะมีรายละเอียดมากขึ้นในการติดตามตัว
“แอพพลิเคชั่นดังกล่าวจะทำงานประสานกันระหว่างกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย มีเจ้าหน้าที่ทำงานร่วมกันตลอดเวลา ทั้งนี้ แอพพลิเคชั่นดังกล่าวจะช่วยเจ้าหน้าที่ติดตามตัวผู้ป่วยมากขึ้นให้เห็นเป็นเรียลไทม์”
เมื่อถามถึงกรณีข่าวเฟคนิวส์ต่างๆ ในเรื่องโควิด-19 มีการดำเนินการจับกุมอย่างไรบ้าง นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา มีการส่งเจ้าหน้าที่ไป 15 ชุด ในการจับกุมคนที่ปล่อยเฟคนิวส์ออกมา โดยจับกุมได้ 5 ราย และรับตัวมาดำเนินคดีที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) แล้ว ซึ่งจะมีการดำเนินคดีทุกรายไม่มีเว้น และจะทำต่อไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ อยากขอความร่วมมือว่าในสถานการณ์แบบนี้ไม่อยากให้คนที่มีข้อมูลไม่ครบถ้วนจะด้วยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตามอยากให้ศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนมีการแชร์ เพราะจะกระทบกับสังคมโดยรวม ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก
“สิ่งที่ดีที่สุดในการหยุดเฟคนิวส์ คือ เมื่อได้รับข่าวสารนั้นมาแล้ว ได้อ่านแล้ว แต่ไม่มั่นใจ ไม่ชัวร์ว่าข้อมูลนั้นมาจากไหนก็ขอให้หยุดที่ตัวเอง ไม่ต้องแชร์ส่งต่อไป จะทำให้ข่าวเฟคนิวส์นี้หยุดได้ที่ตัวท่านเอง จึงอยากขอความร่วมมือคนไทยทุกคน สำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ทุกวัน เพราะไม่อยากให้สังคมถูกชี้นำด้วยข่าวปลอมหรือเฟคนิวส์” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้หน่วยงานราชการบางหน่วยงาน หรือเจ้าหน้าที่บางคนทำงานที่บ้าน นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในวันที่ 16 มี.ค.จะมีการร่วมมือกันระหว่างระหว่างโอเปอร์เรเตอร์และผู้ให้บริการทุกเครือข่ายในประเทศ รวมไปถึงไมโครซอฟ บริษัทไลน์ และกูเกิล จะมีการแถลงข่าวร่วมกันในการที่จะสนับสนุนการทำงานที่บ้าน ซึ่งจะเป็นระบบที่ทุกคนสามารถใช้ได้โหลดฟรีและไม่ไปกระทบแพ็คเกจโทรศัพท์ปัจจุบันที่ใช้อยู่ ใช้เพื่อประชุมสัมมนา ถือเป็นการสนับสนุนให้ภาครัฐ เอกชน และรัฐวิสาหกิจ ใช้ช่องทางดังกล่าวในการทำงานที่บ้าน เพื่อลดการเดินทางและป้องกันกลุ่มเสี่ยงด้วย
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ