เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า
ครม.อนุมัติโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 ตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 เพื่อให้เกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติผ่านระบบการประกัน และเป็นการต่อยอดความช่วยเหลือของภาครัฐในการรองรับต้นทุนการเพาะปลูกข้าวให้เกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ
รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากโครงการ ปีการผลิต 2562 ภายใต้วงเงินงบประมาณ 2,910.39 ล้านบาท โดยใช้เงินงบประมาณคงเหลือในส่วนที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เบิกจ่ายจากสำนักงบประมาณ เพื่อดำเนินโครงการในปีการผลิต 2562 จำนวน 106.61 ล้านบาท และขอเสนองบประมาณเพิ่มเติม จำนวน 2,803.78 ล้านบาท มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้ เป้าหมายพื้นที่รับประกันภัยทั้งโครงการ รวม 45.7 ล้านไร่ แบ่งเป็น
1.การรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier1) พื้นที่รวมไม่เกิน 44.7 ล้านไร่ โดยกำหนดค่าเบี้ยประกันภัยตามความเสี่ยงจริงของเกษตรกรแต่ละกลุ่ม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) ดังนี้
กลุ่มที่ 1 พื้นที่ที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 (เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ทุกราย) ไม่เกิน 28 ล้านไร่ อัตราเบี้ยประกันภัย 97 บาทต่อไร่ เท่ากันทุกพื้นที่ (ความเสี่ยงต่ำ ปานกลาง และสูง) เป็นประกันภัยกลุ่ม
กลุ่มที่ 2 พื้นที่ที่ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 (เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.และเกษตรกรทั่วไป) ซึ่งอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกเสี่ยงภัยต่ำ ไม่เกิน 15.7 ล้านไร่ อัตราเบี้ยประกันภัย 58 บาทต่อไร่ เป็นประกันภัยรายบุคคล
กลุ่มที่ 3 พื้นที่ที่ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 (เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.และเกษตรกรทั่วไป) ซึ่งอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกที่มีความเสี่ยงภัยปานกลางและสูง ไม่เกิน 1 ล้านไร่ อัตราเบี้ยประกันภัยแบ่งเป็น พื้นที่เสี่ยงภัยปานกลาง 210 บาทต่อไร่ และพื้นที่เสี่ยงภัยสูง 230 บาทต่อไร่ เป็นประกันภัยรายบุคคล
โดยรัฐบาลเป็นผู้จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยข้างต้นทุกกลุ่มในอัตรา 58 บาทต่อไร่ รวมถึงค่าภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์ทั้งหมด ส่วนที่เหลือของกลุ่มที่ 1 อีก 39 บาทต่อไร่ (ค่าเบี้ยประกัน 97 บาทต่อไร่) ธ.ก.ส.จะเป็นผู้จ่าย กลุ่มที่ 2 พื้นที่เพาะปลูกเสี่ยงภัยต่ำ ค่าเบี้ยประกันภัย 58 บาทต่อไร่ สำหรับกลุ่มที่ 3 ในพื้นที่เสี่ยงภัยปานกลาง (ค่าเบี้ยประกัน 210 บาทต่อไร่ ส่วนต่าง 152 บาทต่อไร่) และพื้นที่เสี่ยงภัยสูง (ค่าเบี้ยประกัน 230 บาทต่อไร่ ส่วนต่าง 172 บาทต่อไร่) ส่วนต่างค่าเบี้ยประกันเกษตรกรเป็นผู้จ่าย
2.การรับประกันภัยร่วมจ่ายโดยสมัครใจ (Tier2) พื้นที่รวมไม่เกิน 1 ล้านไร่ โดยกำหนดค่าเบี้ยประกันภัยตามความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจ่ายเพิ่มจาก Tier1 (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) โดยเกษตรกรเป็นผู้จ่ายเองทั้งหมด แบ่งเป็น
1) พื้นที่เสี่ยงภัยต่ำ (พื้นที่สีเขียว) จำนวน 594 อำเภอ อัตราเบี้ยประกัน 26.75 บาทต่อไร่
2) พื้นที่เสี่ยงภัยปานกลาง (พื้นที่สีเหลือง) จำนวน 182 อำเภอ อัตราเบี้ยประกัน 52.43 บาทต่อไร่
3) พื้นที่เสี่ยงภัยสูง (พื้นที่สีแดง) จำนวน 152 อำเภอ อัตราเบี้ยประกัน 109.14 บาทต่อไร่
วงเงินคุ้มครอง ครอบคลุม
1) ภัยพิบัติธรรมชาติ 7 ภัย ได้แก่ น้ำท่วม หรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุ หรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาว หรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยช้างป่า วงเงินคุ้มครองในพื้นที่ Tier1 จำนวน 1,260 บาทต่อไร่ พื้นที่ Tier2 จำนวน 240 บาทต่อไร่ แต่รวมแล้วไม่เกิน 1,500 บาทต่อไร่
2) ภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด วงเงินคุ้มครองในพื้นที่ Tier1 จำนวน 630 บาทต่อไร่ พื้นที่ Tier2 จำนวน 120 บาทต่อไร่ แต่รวมแล้วไม่เกิน 750 บาทต่อไร่
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ ธ.ก.ส.ทดลองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาลในส่วนของงบประมาณเพิ่มเติม 2,803.78 ล้านบาท และเบิกเงินชดเชยตามจำนวนที่จ่ายจริงพร้อมด้วยอัตราต้นทุนเงิน ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนของ ธ.ก.ส. บวกร้อยละ 1 ในปีงบประมาณถัดไปให้กับ ธ.ก.ส. ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงิน รวม 2,980.24 ล้านบาท
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ