ปลดนักบิน-ลูกเรือ 2.3 พันคน! ‘บิ๊กการบินไทย’ ร่อนสารแจงพนง.-ขอไม่ฟ้องร้องกัน





‘การบินไทย’ เตรียมลด ‘นักบิน-ลูกเรือ’ กว่า 2,300 คน รับแผนฟื้นฟูกิจการฯ คาดปี 64-65 ใช้เครื่องบิน 29-38 ลำ ส่วนนักบินและลูกเรือที่ได้อยู่ต่อ จะรับเงินเดือนน้อยลงเหตุสลับกันบิน

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา น.ต.อนิรุต แสงฤทธิ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ (DO) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

ส่งสาร ‘DO Message’ ถึงนักบิน ลูกเรือ และพนักงานสังกัดสายปฏิบัติการ ในนาม ‘กัปตันอ๋อย DO’ โดยสารดังกล่าวระบุถึงตัวเลขการลดจำนวนนักบิน ลูกเรือ และพนักงานสังกัดสายปฏิบัติการลง 2,558 คน หรือจาก 6,635 คน เหลือ 4,077 คน

ทั้งนี้ เฉพาะตำแหน่งนักบินและลูกเรือ จะลดจำนวนลงจาก 6,235 คน เหลือ 3,905 คน หรือลดลง 2,330 คนประกอบด้วย 1.ลดจำนวนนักบินจาก 1,335 คน เหลือ 905 คน หรือ

ลดลง 430 คน 2.ลดจำนวนลูกเรือจาก 4,900 คน เหลือ 3,000 คน หรือลดลง 1,900 คน และ3.ลดจำนวนพนักงาน Back office จาก 400 คนเหลือ 172 คน ทั้งนี้

การลดจำนวนนักบินและลูกเรือ รวมถึงพนักงาน Back office ดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับแผนฟื้นฟูกิจการฯในช่วง 2 ปีแรก หรือปี 2564-2565 ที่คาดว่าจะใช้เครื่องบิน 29-38 ลำ จากปี 2562 ที่ใช้เครื่องบิน 83 ลำ

“ปีแรก 2021 นักบิน Active รับเงินเดือน 60% เพื่อแบ่งเงินเดือนให้นักบิน Non Active รับ 30% ส่วนลูกเรือ สลับกันมาบินทั้ง 3,000 คน เช่น บิน 3 เดือนหยุด 9 เดือน ส่วนพนักงาน Back office บางคนยังอยู่กับ DO

บางคนไปสมัครในหน่วยงานอื่นๆที่ Job เดิมมาจากสาย DO แต่ย้ายไปสังกัด EVP อื่นๆ ทั้งนี้ นักบิน ลูกเรือ พนักงาน Back office ที่แสดงความจำนง แต่ไม่ได้ไปต่อ สามารถสมัครเข้าโครงการ MSP B,C หรือเข้าไปอยู่ใน Project New Sky (ฟ้าใหม่)”

เนื้อหา ‘DO Message’ ระบุด้วยว่า สำหรับนักบิน ลูกเรือ ที่รู้สึกไม่เห็นด้วยกับคะแนนที่ได้รับ หรือรู้สึกไม่เชื่อมั่นในผลคะแนนสามารถขอดูข้อมูลได้ หรือหากคิดว่าข้อมูลมีความผิดพลาด ฝ่าบบริหารนักบินและลูกเรือยินดีพิจารณาให้อย่างเป็นธรรม

“พวกเรา คือ พี่น้อง TG ด้วยกัน มีพ่อแม่ คนเดียวกัน คือ การบินไทย การบินไทย คือ อู่ข้าวอู่น้ำที่ดูแลเราและครอบครัวมาตลอด 61 ปี วันที่พ่อแม่มีสตางค์ ให้ค่าขนมเราเต็มที่ วันนี้พ่อแม่มีหนี้สินเป็นแสนล้าน

การบินไทยมีเรื่องราวมากมาย เราทุกคนช่วยกันหาทางออก ไม่ฟ้องร้องกัน” DO Message ระบุก่อนหน้านี้ น.ต.อนิรุต ลงนามประกาศสายปฏิบัติการ 2 ฉบับ ได้แก่ ประกาศสายปฏิบัติการ ที่ 002/2564 เรื่อง เกณฑ์การประเมินและคัดเลือกนักบินที่จะปฏิบัติการบินตามโครงสร้างใหม่ของบริษัทฯ

ลงวันที่ 25 ก.พ.2564 และประกาศฝ่ายปฏิบัติการที่ 003/2564 เรื่อง เกณฑ์การประเมินและและพิจารณาพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่จะปฏิบัติการบินตามโครงสร้างใหม่ของบริษัทฯ ลงวันที่ 1 มี.ค.2564

@การบินไทยแจงใช้เกณฑ์ ‘การเติมน้ำมัน’ ประเมิน ‘นักบิน’

ขณะที่ฝ่ายภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ออกเอกสารข่าวชี้แจงกรณีที่มีกระเเสข่าวนำเสนอในสื่อสังคมออนไลน์และบางสำนักข่าวว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ใช้การเติมน้ำมันเชื้อเพลิง มาเป็นเกณฑ์ในการประเมินผลการปฏิบัติงานของนักบินโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารและเที่ยวบินนั้น

บริษัท การบินไทยฯ ขอชี้แจงว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินธุรกิจการบินโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารและเที่ยวบิน ซึ่งถือเป็นความสำคัญสูงสุดในทุกเที่ยวบิน การวางแผนการบินและน้ำมันเชื้อเพลิง จัดทำโดยเจ้าหน้าที่วางแผนการบิน (Dispatcher) ที่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เป็นผู้ทำหน้าที่ในการวางแผนการบิน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานกฎการบิน โดยการวางแผนนี้ได้ครอบคลุมข้อมูลด้านการบิน ตลอดเส้นทางการบิน

ได้แก่

เอกสารแถลงข่าวการบิน (Aeronautical Information Publication: AIP), การออกประกาศสำหรับผู้ทำการในอากาศ (Notices to Airmen :NOTAM), สภาพอากาศระหว่างเส้นทางการบิน (En-route Weather), สนามบินปลายทาง (Destination), สนามบินสำรองระหว่างเส้นทาง (En-route Alternate), สนามบินสำรองที่ปลายทาง (Destination Alternate) และ แผนการบิน (Operation Flight Plan)

การวางแผนการบินของบริษัทฯ เป็นไปตามมาตรฐานและกฎสากล โดยปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงของทุกเที่ยวบิน (Standard ramp fuel) จะประกอบด้วยเชื้อเพลิงในส่วนต่างๆ ดังนี้

Standard ramp fuel = Taxi fuel + Trip fuel + Contingency fuel + Alternate fuel + Final reserve fuel + Addition fuel

หากพบว่าสภาพอากาศที่สนามบินปลายทาง (Destination) ทัศนวิสัยต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน หรือมีข้อจำกัดอื่นๆ บริษัทฯ มีกฎรองรับตามหลักสากลในการวางแผนปฏิบัติการบินให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น เช่น วางแผนการบินให้มีสนามบินสำรอง 2 แห่ง ในกรณีที่ต้องเปลี่ยนเส้นทางการบินไปยังสนามบินสำรอง (Diversion)

“ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวนี้เป็นไปตามมาตรฐานและกฎที่ทุกสายการบินใช้ ซึ่งนักบินทุกคนของบริษัทฯ ได้รับการฝึกอบรมและปฏิบัติตามเป็นอย่างดี” ฝ่ายภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร บริษัท การบินไทยระบุ

ทั้งนี้ บริษัทฯไม่มีนโยบายด้านการประหยัดด้วยการให้ลดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงลงต่ำกว่า Standard ramp fuel แต่อย่างใด แต่ใช้วิธีบริหารการใช้ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ (Fuel and cost management) ตาม Standard ramp fuel ในทุกเที่ยวบิน โดยมุ่งเน้นด้านการบริหารต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของนักบินผู้ควบคุมอากาศยาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินประสิทธิภาพในการทำงานของนักบินผู้ควบคุมอากาศยาน

สำหรับการประเมินนักบิน หัวข้อการสั่งปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยความเหมาะสมนั้น ได้ใช้ข้อมูลและวิธีการทางสถิติ ซึ่งข้อมูลที่นำมาใช้ เป็นข้อมูลจากคลังข้อมูลของบริษัทฯ มีกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) และผลที่ออกมานั้นก็สามารถวัดประสิทธิภาพการบริหารต้นทุนทางด้านน้ำมันเชื้อเพลิงของนักบินผู้ควบคุมอากาศยานได้

ทั้งนี้ การประเมินประสิทธิภาพในการทำงาน มิได้พิจารณาเรื่องนี้เพียงอย่างเดียว ยังมีหัวข้ออื่นๆ ที่ใช้พิจารณาอีกหลายหัวข้อ เช่น ความตั้งใจและประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งด้านการบินและงานด้านอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังต้องรับการตรวจสอบ (Audit) จากหน่วยงานด้านการบินของภาครัฐทั้งในและต่างประเทศเสมอ เช่น Ramp inspection , IOSA Audit และอื่นๆ เพื่อให้แน่ใจว่าการปฏิบัติงานเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย

“บริษัทฯ ขอยืนยันเพื่อให้ความมั่นใจแก่ผู้โดยสารทุกท่านว่า บริษัท การบินไทยฯ ให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของเที่ยวบินและผู้โดยสาร ซึ่งถือเป็นความสำคัญสูงสุดในทุกเที่ยวบิน”ฝ่ายภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร บริษัท การบินไทยย้ำ

@สหภาพฯ ‘การบินไทย’ มอบกระเช้าขอบคุณรัฐบาล

ส่วนความเคลื่อนไหวของสหภาพพนักงานบริษัทการบินไทยนั้น เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา นายศิริพงษ์ ศุกระกาญจนาโชค ประธานสหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ (สร.กบท.สพ.) และคณะ 9 คน เข้าพบนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เพื่อมอบกระเช้าขอบคุณรัฐบาลและกระทรวงแรงงานที่ให้ความช่วยเหลือในการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายแรงงาน เนื่องจากบริษัทการบินไทยเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างใหม่

นายศิริพงษ์ กล่าวว่า สร.กบท.สพ. และสมาชิกของสหภาพฯ รวมทั้งพนักงาน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รู้สึกซาบซึ้งในความตั้งใจช่วยเหลือของรัฐบาล ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงแรงงาน จึงได้เข้ามาแสดงความขอบคุณที่ได้ใช้ความจริงใจและเอาใจใส่ในการประสานผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน จนทำให้มีการประชุมหารือเจรจาหาข้อยุติ

“ขณะนี้ประเด็นปัญหาข้อขัดแย้งได้รับการคลี่คลายภายใต้กรอบของกฎหมายคุ้มครองแรงานกำหนดจนเป็นที่พึงพอใจของพนักงานบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และสหภาพแรงงานฯ แล้ว” นายศิริพงษ์กล่าว


(ตัวแทน สร.กบท.สพ. และพนักงานการบินไทย เข้าพบ สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2564)

รายงานข่าวแจ้งว่า ในช่วงเย็นวันที่ 17 มี.ค. รมว.แรงงาน ได้เข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เพื่อให้กระทรวงการคลังช่วยเหลือและเยียวยาพนักงานบริษัท การบินไทย ที่อาจได้รับผลกระทบจากการถูกให้ออกจากงานในช่วงโครงการแสดงความจำนงยอมเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก (Relaunch) ของบริษัท การบินไทย

สำหรับแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย ที่ยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2564 มีการระบุว่า ในปี 2564 บริษัท การบินไทย มีรายจ่ายค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างพนักงานเป็นเงิน 15,120 ล้านบาท โดยก่อนหน้านี้นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย แถลงว่าภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯจะลดพนักงานเหลือ 1.3-1.5 หมื่นคน จากปัจจุบันที่มีพนักงาน 1.9 หมื่นคน หรือพนักงานลง 6,000-7,000 คน

ข่าวจาก : isranews

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: