จากกรณีที่คณบดีและรองคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) นำเจ้าหน้าที่เข้าไปขอรื้อถอนและเก็บผลงานศิลปะของนักศึกษา ที่วางอยู่ภายในลานหน้าตึกมีเดียอาร์ต ใส่ถุงดำ ระบุว่าเป็นการเก็บไปเพื่อความสะอาดของพื้นที่สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มนักศึกษาเนื่องจากไม่มีการแจ้งล่วงหน้าและทำให้ผลงานศิลปะเสียหาย
โดยผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าไปช่วยเจรจา ซึ่งประโยคหนึ่งที่ ผศ.ดร.ทัศนัยพูดกับชายในเสื้อเหลืองซึ่งคาดว่าเป็น 1 ในผู้บริหาร คือ “อย่าทำอย่างนี้อีก ศิลปะอับอายมามากพอแล้ว เพราะคนที่ไม่รักเสรีภาพแบบนี้” กระทั่งชายเสื้อเหลืองต้องยอมล่าถอยกลับไป
ขณะที่นักศึกษาได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ เพื่อให้ดำเนินคดีกับคณบดี ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ รวม 5 คน ในข้อหาร่วมกันวิ่งราวทรัพย์ ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตลอดคืนที่มาผู้ใช้อินเตอร์เน็ตได้โพสต์ผลงานของดร.ทัศนัยที่ทวิตเตอร์ พร้อมชื่นชมอาจารย์ทัศนัยที่ช่วยปกป้องนักศึกษา อาทิ ผศ.ดร.ทัศนัย ได้รับรางวัล The 2018 Finalist Artworks
ผลงาน อ. ดร. ทัศนัย เศรษฐเสรี ได้รับรางวัล ใน The 2018 Finalist Artworks โห สวยมาก แนวคิดก็โคตรเดือด เป็นภาพ หัวลำโพง ที่ผ่านยุคสมัยของการเมืองและถูกฉาบด้วยการอำพรางให้พร่าเลือนด้วยสีสัน เส้นสาย สัญลักษณ์ ร่องรอยขีดทับ #ทีมมช
ไปหาข้อมูล อ.ทัศนัย โคตรชอบ ตอนปี 2544 อดอาหารพร้อมเพื่อนศิลป 112 ชม
2557 ร่วมกันลงชื่อเรียกร้องให้ คสช. หยุดการจำกัดเสรีภาพนักวิชาการและนักศึกษา พร้อมบอก “ถ้าแม้แต่เสรีภาพทางวิชาการยังถูกละเมิด เราก็ไม่มีทางหวังได้ว่าเสรีภาพในการแสดงออกแบบอื่นๆ จะได้รับการเคารพ”
#ทีมมช
ขณะที่ ผศ.ดร.ทัศนัย ก็ได้ขอบคุณผ่านเฟซบุ๊กของตัวเอง โดยระบุว่า ขอบคุณทุกคำชื่นชม ทุกความห่วงใย
สวัสดีชาวโลก
ผมขอขอบคุณทุกคำชื่นชม ทุกความห่วงใย และทุกดวงใจแห่งเสรีภาพ ที่มอบให้แก่กัน
เยาวชนและอนาคตของเราอีกจำนวนมากถูกตั้งข้อหา จำนวนหนึ่งถูกคุมขัง จำนวนมากถูกคุกคาม
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พวกเราจะเกื้อหนุนกำลังกาย กำลังใจและสติปัญญา ช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้นด้วย
ด้วยเสรีภาพและความนับถือ
แต่ก็มีผู้ที่เห็นต่าง ก็เข้าไปตำหนิวิพากษ์วิจารณ์ทำนองว่าเป็นเสื้อแดง
“เป็นเสื้อแดงเผาเมืองชุบตัวนี่เอง ทำเป็นอ้างศิลปะกุขำว่ะ เสื้อแดงชุบตัว”
สำหรับประวัติและผลงานของ ผศ.ดร.ทัศนัย เป็นศิลปินที่มีผลงานศิลปะออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะศิลปะที่มีเนื้อหา ทัศนคติทางสังคม และเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยหลังจบการศึกษาระดับปริญญาโท ที่ Visual Arts, The University of Chicago, United States of America ก็ได้เข้าสอนเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสื่อศิลปะ และการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2547-ปัจจุบัน
นิทรรศการ WHAT YOU DON’T SEE WILL HURT YOU
ผลงานที่เป็นที่ประจักษ์อย่างมากของผศ.ดร.ทัศนัย อย่างนิทรรศการ WHAT YOU DON’T SEE WILL HURT YOU ที่ถ่ายทอดประวัติศาสตร์การเมืองและการสร้างสังคมไทยให้ทันสมัย เพื่อนำมาเป็นฉากหลังสุดของชิ้นงาน เช่น ภาพการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475, สถานีรถไฟหัวลำโพง จนได้รับรางวัล The 2018 Finalist Artworks
นิทรรศการดังกล่าว มีทั้งเรื่องราวที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ปี พ.ศ.2519, พฤษภาทมิฬ ปี พ.ศ.2535, การสลายการชุมนุมปี พ.ศ.2553 หรือเหตุการณ์ตั้งแต่ตอนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี พ.ศ. 2475 ของคณะราษฎร หรือแม้กระทั่งเรื่องเกี่ยวกับหัวลำโพงก็ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง
“งานชุดนี้มันเกิดมาจากความรู้สึกนึกคิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ผมรู้สึกคนเดียว หากแต่เป็นคนจำนวนมากในสังคมนี้ที่รู้สึกถึงการที่ประชาชนหรือสามัญชนไม่มีโอกาสที่จะได้เข้าไปร่วมกำหนดพัฒนาการทางสังคมของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง วัฒนธรรม วิถีชีวิต
หรือแม้กระทั่งการกำหนดชะตากรรมของตัวเอง และก็เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถตรวจสอบได้ ไม่ได้หมายความว่าสังคมไม่ได้มีการตื่นตัว หรือว่าประชาชนไม่มีความรู้ แต่เป็นเพราะกลไกทางวัฒนธรรมอะไรบางอย่างที่มันไม่เห็นความสำคัญของประชาชนหรือสามัญชน ซึ่งชื่องานมันมาจากความคิดตรงนี้” คำบอกเล่าของอาจารย์ทัศนัย
ผลงาน “Some Deaths Can’t Be Buried”
BOTS WORLD เว็บไซต์เผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับศิลปะ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวอีกหนึ่งศิลปะชิ้นโตของอาจารย์ทัศนัยในชื่อ “COLD WAR THE MYSTERIOUS สงครามเย็นที่กำลังก่อสร้าง”
นิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุดเมื่อปี 2019 ที่ประเทศสิงคโปร์ อาจารย์ทัศนัยได้สื่อสารความคิดทางการเมืองของรัฐเผด็จการไทยออกมาเป็นผลงานชุด “Some Deaths Can’t Be Buried” บ่งชี้ถึง วิธีคิดทางสุนทรียศาสตร์ในไทยได้ถูกบิดเบือนให้ศักยภาพและแรงจูงใจภายในผลงานศิลปะลดทอนลง จนศิลปะกลายเป็นเพียงผลผลิตทางจริยธรรมอันคลุมเครือ
คนรักศิลปะสามารถติดตามผลงานอาจารย์ทัศนัยได้ตามงานนิทรรศการศิลปะต่าง ๆ และอีกหนึ่งช่องทางที่ Facebook : Thasnai Sethaseree
ข่าวจาก : มติชนออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ