สภานายจ้าง ชี้ คนไทยตกงานลดลง อานิสงส์ 3 ปัจจัยบวก





นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยถึงสถานการณ์จ้างงานของไทย 

ขณะนี้อัตราการว่างงานของไทยถือว่าเป็นจุดต่ำสุดแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 และปัจจุบันสัญญาณจ้างงานเริ่มฟื้นตัวมากขึ้นจาก 3 ปัจจัยหลักสำคัญ ประกอบด้วย 1.เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากการที่ทั่วโลกทยอยฉีดวัคซีนโควิด-19 และเร่งอัดเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป 2.การนำเข้าโดยเฉพาะเครื่องจักรโต 2.39% การนำเข้าวัตถุดิบ 24.4% แสดงให้เห็นว่าภาคผลิตเริ่มกลับมาผลิตเพิ่มขึ้น และ 3.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐหนุนกำลังซื้อคนในประเทศ โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่งที่ได้รับความนิยมจากประชาชนสูง ดังนั้นขอสนับสนุนให้ภาครัฐขยายเฟส 3

“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศของไทยควรทำต่อไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง เข้าถึงเศรษฐกิจฐานรากจริงๆ ส่วนโครงการอื่นถือว่าดี แต่หากเป็นไปได้ชื่อโครงการอย่ามีมากประชาชนจะได้ไม่สับสน” นายธนิต กล่าว

นายธนิต กล่าวว่า นอกจากนี้ต้องให้ภาครัฐวางแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 วางไทม์ไลน์ชัดเจน ปัจจุบันแม้มีการนำเข้าวัคซีนและระบุถึงกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับการดูแลก่อน แต่ยังไม่ระบุกลุ่มไหนชัดเจน ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ควรปิดกั้นโรงพยาบาลเอกชนหรือภาคเอกชนอื่นที่มีศักยภาพนำเข้าวัคซีน ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ได้แย่งโควตารัฐ หากอนุมัติให้นำเข้าวัคซีนที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะช่วยกระจายวัคซีนเร็วขึ้น ธุรกิจเดินหน้าไปได้เร็ว เมื่อไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 ครอบคลุมเร็ว จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวชาติที่ฉีดวัคซีนครบง่ายขึ้น

สำหรับอัตราการว่างงานของไทยปัจจุบันหากยึดตัวเลขรัฐจะว่างงานเพียง 1.5% แต่หากยึดตัวเลขเอกชนอัตราการว่างงานจะอยู่ระดับ 1.2-1.5 ล้านคน ยังไม่รวมเด็กจบใหม่อีกประมาณ 5 แสนคน และหากพิจารณาการสมัครงานในเว็บไซต์จ๊อบไทย พบว่า ความต้องการงานกว่า 1.8 ล้านคน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าอัตราว่างงานของไทยยังคงมีอยู่พอสมควร แม้แนวโน้มดีขึ้น

เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงานยังไม่ได้กลับไปยังจุดเดิมก่อนที่จะมีโควิด-19 โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่ปี 2562 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง40 ล้านคน ขณะที่ปี 2563 ลดเหลือเพียง 6.5 ล้านคน ปีนี้คาดว่าจะมีประมาณ 3-4 ล้านคนเท่านั้น ทำให้แรงงานในภาคท่องเที่ยวและบริการไม่สามารถกลับมาได้มากนัก

ข่าวจาก : มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: