ทช.บินสำรวจทะเล ช่วงโควิดระบาด ตะลึง ฝูงสัตว์หายาก ว่ายว่อน พะยูนแม่ลูก2 คู่ กินนมโชว์
วันที่ 10 เมษายน นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า เมื่้อ วันที่ 5-9 เมษายน ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) ออกปฏิบัติงานสำรวจการแพร่กระจายสัตว์ทะเลหายาก
บริเวณพื้นที่จังหวัดกระบี่ โดยวิธีการบินสำรวจ (Aerial Survey) โดยใช้เครื่องบินปีกตรึง 2 ที่นั่ง ร่วมกับนักบินอาสาสมัคร นาย Eduado Anrelo Loigorri ณ บริเวณเกาะศรีบอยา เกาะจำ เกาะปู จังหวัดกระบี่
“ผลการสำรวจยอดสูงสุดของการพบเห็น (ไม่ใช่จำนวนประชากรสัตว์ทะเลในพื้นที่ เนื่องจากอาจมีการนับตัวซ้ำ) ผลการสำรวจพบพะยูน 13 ตัวในจำนวนนี้เป็นพะยูนแม่-ลูก จำนวน 2 คู่ โลมาหลังโหนก (Indo-Pacific Humpback Dolphin, Sousa chinensis) 10 ตัว และเต่าทะเล 22 ตัว ผลการตรวจสุขภาพประเมินสุขภาพจากการสังเกตด้วยสายตา
พบว่าสุขภาพพะยูนโดยรวมปกติ นอกจากนี้ยังพบพะยูนคู่แม่-ลูกซึ่งแสดงถึงความสมบูรณ์เพศของตัวสัตว์ รวมถึงโลมาหลังโหนก และสุขภาพโดยรวมไม่พบสัตว์ทะเลหายากที่แสดงความผิดปกติ ส่วนข้อมูลและภาพถ่ายจากการสำรวจครั้งนี้ จะใช้คำนวณหาจำนวนประชากรที่แท้จริงของสัตว์ทะเลหายากในบริเวณพื้นที่จังหวัดกระบี่ต่อไป”นายโสภณ กล่าว
อธิบดีทช. กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายให้กับหน่วยงานอื่นมากมาย แต่ในส่วนของ ทช.แล้ว ถือว่าสถานการณ์นี้ทำให้ทรัพยากรและระบบนิเวศน์ภายในทะเล ที่เคยได้รับความเสียหายจากการท่องเที่ยว
ได้รับการซ่อมแซม โดยจากตัวธรรมชาติเอง ที่ไม่มีใครเข้าไปรบกวน ไม่มีเรือสปีดโบ้ท วิ่งส่งเสียงดัง ปริมาณหญ้าทะเลเพิ่มมากขึ้น ปะการังกิ่งใหม่งอกมาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรากฏตัวของสัตว์ทะเลหายากมีความถี่มากขึ้น
“ตัวอย่างที่เห็น ซึ่งเจ้าหน้าที่ของเราถ่ายภาพมาได้ เป็นพะยูนคู่แม่ลูก ถึง 2 คู่ ที่กำลังให้นมลูกอยู่กลางทะเล เป็นภาพน่ารักมาก ซึ่งปกติพะยูนเรามักจะเจอบ่อยที่ จ.ตรัง แต่นี่เป็นทะเลกระบี่ ซึ่งก่อนหน้านี้ แม้มีพะยูนอยู่เช่นเดียวกัน
แต่ก็ไม่ค่อยปรากฏตัวให้เราเห็นบ่อยนัก เป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่า ระบบนิเวศน์ในทะเลเราดีขึ้นจริงๆ ทั้งนี้จากการสำรวจของ ทช.พบว่าเวลานี้ในทะเลไทย มีพะยูนอยู่ราว 260 ตัว ซึ่งเราตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า ในปี 2565 จะมีพะยูน 280 ตัว ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ คิดว่าไม่ใช่เรื่องยากที่จะไปถึงเป้าหมายตรงนั้น”นายโสภณ กล่าว
นายโสภณ กล่าวด้วยว่า นอกจากพะยูนแล้ว เรื่องของเต่ามะเฟืองก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากอีกอย่างหนึ่ง ถือเป็นสถิติแห่งปีเลยก็ว่าได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมาถึงปี 2560 มีเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่แค่ปีละ 1.5 รัง เท่านั้น แต่นับแต่ปี 2560-2564 ปรากฏว่า มีเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่แล้วเกือบ 20 รัง ด้วยกันเฉลี่ยแล้ว แม่เต่าวางไข่รังละ 80-100 ฟอง หมายถึง เราได้ไข่เต่าประมาณ 2,000 ฟอง และอาจได้ลูกเต่าเพิ่มขึ้นถึง 2,000 ตัวเลยทีเดียว ทั้งนี้เต่ามะเฟือง เป็นสัตว์ที่ไม่สามารถเอามาเลี้ยงในตู้ได้ จะต้องให้เป็นไปโดยธรรมชาติเท่านั้น
ข่าวจาก : มติชนออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ