สปสช.ย้ำอีกครั้ง! ป่วยโควิดรักษาฟรีทุกสิทธิ เอกชนไม่เก็บเงินเพิ่ม เตียงพร้อม
สปสช.จัดเสวนาแจงแนวทางการหาเตียงและการให้สิทธิรักษาโควิด-19 ยืนยัน กลุ่มเสี่ยงทุกคน-ผู้ป่วยทุกสิทธิ รักษาฟรีได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐ-เอกชน พร้อมชักชวนประชาชนลงทะเบียนหาเตียงผ่าน @sabaideebot ในแอพพลิเคชัน LINE เพื่อบันทึกประวัติ เชื่อมต่อระบบกับฐานข้อมูลจัดหาเตียง
เมื่อวันที่ 16 เมษายน พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ที่ปรึกษาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยตอนนหนึ่งในเวทีเสวนาหัวข้อ ติดเชื้อโควิด-19 จะหาเตียงอย่างไร เสียค่าใช้จ่ายหรือไม่? “สายด่วน และ LINE สบายดีบอต” มีคำตอบ ว่า หากแพทย์เห็นว่ากลุ่มเสี่ยงที่เข้ามาคัดกรองโควิด-19 มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาหรือต้องเข้ารับการผ่านตัดใดๆ ทาง สปสช.จะดำเนินการจ่ายชดเชยให้ โดยครอบคลุมประชาชนคนไทยทุกคน ทุกสิทธิการรักษา ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน
พญ.กฤติยา กล่าวว่า ถ้ากลุ่มเสี่ยงเข้ารับการคัดกรองแล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19 และมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน สปสช.ได้ทำข้อตกลงกับภาคเอกชนแล้วว่าจะไม่มีการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยบางรายมีประกันสุขภาพเอกชนก็อาจจะต้องใช้ส่วนนั้นไปก่อน ส่วนการจ่ายชดเชยให้โรงพยาบาลเอกชนนั้น จะเป็นไปตามระบบ UCEP หรือรักษาฉุกเฉินเร่งด่วน
ทั้งนี้ ยืนยันว่า สปสช.จะจ่ายชดเชยให้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยครอบคลุมทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โดยกรณีผู้ป่วยนอก (OP) จะจ่ายค่าห้องปฏิบัติการ (Lab) ค่าเก็บตัวอย่าง ค่าใช้จ่ายในกรณีที่มียารักษาเฉพาะผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 หรือค่ารถส่งต่อระหว่างหน่วยบริการ บ้าน ค่าด่านตรวจคัดกรอง State Quarantine
สำหรับกรณีผู้ป่วยใน (IP) จะมีการจ่ายชดเชย ค่า Lab ค่ายารักษา และที่สำคัญก็คือค่าชุด PPE หรืออุปกรณ์ที่ป้องกันการแพร่กระจ่ายเชื้อ ก็จะมีการจ่ายชดเชยตามจริงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้เข้าไปสัมผัสผู้ติดเชื้อ ขณะที่ค่าห้องนั้น ถ้าจำเป็นต้องรักษาในห้องความดันลบ (Negative Pressure) ทาง สปสช. ก็จะจ่ายชดเชยให้ 2,500 บาทต่อวัน ส่วนค่าหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ เช่น โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel หากโรงพยาบาลเห็นว่ามีความจำเป็นต้องย้ายผู้ป่วยไปรักษาตัวยังสถานที่นั้นๆ ก็จะมีการจ่ายชดเชยให้ไม่เกิน1,500 บาท ต่อคนต่อวัน รวมไปถึงค่ารถที่ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังจุดต่างๆ ด้วย
“เนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคเจ็บป่วยฉุกเฉิน และเป็นภาระต่อประชาชนในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ก็อยากจะให้ความมั่นใจว่า ถ้าท่านทำตามคำแนะนำของแพทย์ หรือหน่วยบริการนั้นๆ แล้ว ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเพิ่มเติม ในกรณีที่มีปัญหาผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทอง รวมไปถึงผู้ที่เข้าเกณฑ์ทุกอย่างแล้วยังถูกเรียกเก็บค่าบริการ ให้สอบถาม-แจ้งเพิ่มเติมได้ที่ 1330” พญ.กฤติยา กล่าว
พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ตามขั้นตอนแล้วการหาเตียงจะเริ่มจากโรงพยาบาลที่เข้าตรวจ ถ้าเตียงเต็มก็จะเป็นเตียงของโรงพยาบาลเครือข่ายของโรงพยาบาลนั้นๆ ในกรณีที่เตียงโรงพยาบาลเครือข่ายเต็มอีก ก็จะมีการหาเตียงข้ามเครือข่าย ซึ่งมีศูนย์เอราวัณทำหน้าที่เป็นศูนย์บริหารจัดการเตียง ส่วนจะได้นอนที่โรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย
“จะมีการตรวจคัดกรองและเอกซเรย์ปอดก่อนเสมอ ถ้าผลการเอกซเรย์ออกมาว่ามีข้อสงสัยภาวะปอดอักเสบ ผู้ป่วยก็จะได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ส่วนในกรณีที่ไม่มีข้อสงสัย อาการน้อย สุขภาพดี อายุน้อยกว่า 50 ปี และไม่มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยถึงจะสามารถเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ซึ่งจะมีแพทย์และพยาบาลดูแลตลอด 24 ชั่วโมง” พญ.ปฐมพร กล่าว
พญ.ปฐมพร กล่าวอีกว่า สำหรับคลินิกเอกชนที่ตรวจคัดกรองจะต้องมีโรงพยาบาลที่จับคู่กัน เพื่อให้แน่ใจได้ว่าจะหาเตียงได้ การเข้าตรวจต้องเข้าตรวจอย่างถูกวิธี และที่นั้นจะต้องช่วยดูแลให้สามารถหาเตียงได้
ทั้งนี้ อยากเชิญชวนให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนหาเตียงผ่านแอปพลิเคชันไลน์ (LINE) โดยเพิ่มเพื่อน @sabaideebot (สบายดีบอต) ซึ่งจะเป็นโปรแกรมอัตโนมัติในการจัดระบบข้อมูล บันทึกประวัติสุขภาพ ให้คำแนะนำการ ตลอดจนมีฐานข้อมูลเฝ้าระวังโรค ซึ่งประชาชนสามารถจะบันทึกความเสี่ยงได้ และข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยังฐานข้อมูลที่สัมพันธ์กับการจัดหาเตียงด้วย
ข่าวจาก : มติชนออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ