‘บิ๊กตู่’ จี้ฉีดวัคซีนวันละ ‘3แสนโดส’ เล็ง 3 เดือน ฉีดได้ 30 ล้านคน-ยกระดับ ศบค.





‘บิ๊กตู่’ จี้ฉีดวัคซีนวันละ ‘3แสนโดส’ เล็ง 3 เดือน ฉีดได้ 30 ล้านคน-ยกระดับ ศบค.

เมื่อวันที่ 27 เมษายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมหารือวงเล็กเกี่ยวกับเรื่องการกระจายวัคซีน ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นการหารือก่อนที่นายกฯจะประชุมรับฟังข้อเสนอจากเอกชน ทั้งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย รวมทั้งสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว และหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง ถึงแนวทางการจัดหาและกระจายวัคซีนของภาคเอกชน ในวันที่ 28 เมษายนนี้ เพื่อกระจายสู่บุคลากรภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงการยกระดับการกระจายวัคซีน ว่า ผมได้หารือทีมที่ปรึกษาเรื่องยกระดับการกระจายวัคซีนเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนสูงสุด เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายดังนี้

1.ผลักดันให้มีการจัดหาวัคซีนให้ได้เพิ่มมากขึ้นในทุกวิถีทาง โดยมีเป้าหมาย 10-15 ล้านโดสต่อเดือน จากวัคซีนที่มีความหลากหลายในปัจจุบัน

2.ปรับโครงสร้าง มีการจัดกลุ่ม แบ่งงาน ผสมผสานการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนให้ชัดเจน โดยต้องให้มีการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง ผลักดันแนวทางในการฉีดวัคซีนให้เป็นเชิงรุก เพื่อแบ่งเบาภาระจากโรงพยาบาลและสาธารณสุข

3.จัดให้มีศูนย์ฉีดวัคซีนทางเลือก โดยใช้สถานที่ที่เหมาะสม เช่น ศูนย์ประชุม ศูนย์กีฬา โรงแรม เพื่อลดภารกิจของโรงพยาบาลหลัก และสาธารณสุข ที่ต้องรองรับ ดูแลผู้ป่วยเป็นหลัก โดยศูนย์ฉีดวัคซีน จะดึงการมีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีนทางเลือกในกลุ่มที่มีศักยภาพเพิ่มเติมจากของภาครัฐ

4.เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการฉีดให้ได้ 300,000 โดสต่อวัน หรือมากกว่า และเป้าหมายฉีดให้ประชาชน 50 ล้านคน ภายในสิ้นปีนี้หรือเร็วกว่า นอกจากนี้ ผมยังได้สั่งการให้มีการปรับปรุงการคัดกรอง และระบบการเข้ารับการรักษาพยาบาลให้มีช่องทาง และการขนส่งเคลื่อนย้าย ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์หารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องพร้อมคณะที่ปรึกษาของนายกฯ ที่ประชุมมีความเห็นว่าการระบาดระลอกใหม่ของโลกเกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะในแถบยุโรปและเอเชีย ทั้งนี้ ประเทศไทยได้บริหารจัดการที่ผ่านมาเป็นอย่างดี จนนำไปสู่การผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันเกือบเป็นปกติ ที่ผ่านมาอาจมีการระบาดเกิดขึ้นเป็นกลุ่มจังหวัด ก็ไม่มีการล็อกดาวน์เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

“ส่วนการระบาดระลอกเมษายน 2564 นี้กระจายตัวเร็วจนสร้างความวิตกกังวลแก่ประชาชนจำนวนมาก แม้ว่าไทยจะมีความพร้อมในการรับมือการระบาดครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตามนายกฯได้หารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมคณะที่ปรึกษาของนายกฯ และเห็นควรที่จะดำเนินการดังนี้

1.ด้านการจัดการ ให้มีการยกระดับ ศบค. โดยให้เป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จเหมือนเดิม หลังจากที่มีการผ่อนคลายและให้อำนาจกระทรวงที่เกี่ยวข้องดูแลไปก่อนหน้านี้ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาและการสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน จะสามารถดำเนินการได้เบ็ดเสร็จและรวดเร็วยิ่งขึ้น” นายอนุชากล่าว

นายอนุชากล่าวว่า 2.ด้านการคัดกรอง มอบหมายให้ ศบค. จัดให้มีศูนย์คัดกรองของรัฐในทุกจังหวัด โดยจังหวัดขนาดใหญ่ เช่น กทม. จำเป็นต้องมีหลายจุดเพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว หากพบผู้ติดเชื้อต้องจัดส่งไปยังสถานที่รักษาที่เหมาะสม โดยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ต้องดูแลให้มีความเพียงพอ

3.ด้านการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อ จัดให้โรงพยาบาลสนามที่พร้อมรับดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ เฝ้าระมัดระวังอาการ ส่วนผู้ที่มีอาการเริ่มต้น และที่มีอาการหนัก ต้องจัดให้มีสถานพยาบาลรองรับ ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน หรือสถานพักเอกชน โดย ศบค. จะกำกับและติดตามกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้จัดสถานพยาบาลให้มีเพียงพอกับผู้ที่ติดเชื้อ


“4.ด้านการฉีควัคซีน ศบค. จะเข้ามาดูแลการจัดสรรที่ควบคู่กันไปกับบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มเสี่ยง ภาคธุรกิจ และประชาชน โดยจะร่วมมือกับทุกภาคส่วน จัดสถานที่ที่เหมาะสม ลดการแออัดของโรงพยาบาล ที่ต้องมุ่งเน้นในการดูแลผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ ทั้งนี้เป้าหมายต้องฉีดวัคซีนทั้งประเทศให้ได้อย่างน้อย 3 แสนโดสต่อวัน และภายใน 4 เดือน คนไทยประมาณร้อยละ 60 ของกลุ่มเป้าหมาย หรือคิดเป็นประชาชนจำนวน 30 ล้านคน ที่จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก และให้ครบ 50 ล้านคนอย่างน้อยเข็มแรกภายในอย่างช้าไม่เกินสิ้นปี 2564 นี้” นายอนุชากล่าว

นายอนุชากล่าวว่า

5.สถานะการจัดหาวัคซีนของไทยภายในอีก 4 เดือนข้างหน้านี้ (พฤษภาคม-สิงหาคม 2564) จะมีสัญญาที่ยืนยันจัดส่งแล้ว 28 ล้านโดส โดยทั้งปีรวมกัน 63 ล้านโดส และอยู่ระหว่างการเจรจาอีก 40 ล้านโดส จากหลายผู้ผลิต ซึ่งน่าจะได้รับทราบผลเร็วๆ นี้ สำหรับระบบการลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีน ได้เตรียมระบบหมอพร้อม เพื่อรองรับการลงทะเบียนของประชาชนที่จะเริ่มในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ หากระบบดังกล่าวขัดข้องหรือไม่สามารถดำเนินการได้ ก็จะมีระบบที่เตรียมสำรองไว้แล้วโดยธนาคารกรุงไทยร่วมกับกระทรวงการคลัง

นายอนุชากล่าวว่า

นายกฯขอให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลเตรียมการเรื่องนี้เป็นอย่างดี คนไทยกว่า 50 ล้านคนจะได้รับการฉีดวัคซีนภายในปี 2564 นี้อย่างแน่นอน และงบประมาณก็มีเพียงพอที่จะจัดหาวัคซีนได้อีกมาก ส่วนรายละเอียดอื่นๆ นั้น ได้มอบหมายให้ ศบค. เร่งดำเนินการในแต่ละด้าน และรายงานกลับมาถึงนายกฯภายในสัปดาห์หน้า

โดยแสดงตัวเลขความเพียงพอในทุกมิติ เช่น จำนวนผู้เข้ามาคัดกรอง จำนวนเตียงที่ว่าง จำนวนยาที่ใช้รักษา จำนวนอุปกรณ์ทางการแพทย์ จำนวนการฉีดวัคซีน เป็นต้น และให้ ศบค. รายงานให้ประชาชนทราบทุกวัน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น และในวันที่ 28 เมษายนนี้ จะนำเรื่องต่างๆ ที่ได้ข้อสรุปในวันเดียวกันนี้นำเข้าหารือกับภาคเอกชนที่แสดงตนมาช่วยรัฐบาล ว่ามีเรื่องใดซ้ำซ้อน และเรื่องใดเสริมกันได้ จะแบ่งหน้าที่กันไป

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวหลังประชุมร่วมกับนายกฯว่า การหารือมี 2 เรื่อง ที่เตรียมจะหารือกับภาคเอกชน คือเรื่องการนำผู้ป่วยเข้ามารักษาในสถานพยาบาลประมาณ 800 คน จากตกค้างกว่า 1,400 คน โดยให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงแรงงาน คัดกรองกลุ่มผู้ประกันตน ขณะนี้ได้จัดสถานที่ไว้ที่อินดอร์สเตเดียมหัวหมาก สำหรับคัดกรอง ถ้าไม่มีอาการ จะนำเข้าโรงพยาบาลสนาม หากอาการเป็นสีเหลือง จะต้องดูสถานที่รักษาอาจเป็นสถานพยาบาลที่เป็นโรงแรม ส่วนอาการสีแดงให้นำเข้าโรงพยาบาล เพื่อรักษา

“เรื่องที่สองคือการบริหารจัดการวัคซีน ที่จะต้องคุยกับภาคเอกชนว่าจะเข้ามาช่วยอย่างไร เมื่อวัคซีนเข้ามา 26 ล้านโดสในช่วง 3 เดือนนี้ จากนั้นจะมีวัคซีนซิโนแวคเข้ามาอีกประมาณ 1 ล้านโดส ขอให้มั่นใจได้ว่า 3 เดือนนี้ ตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อยประมาณ 30 ล้านคน ส่วนวัคซีนทางเลือกที่ขึ้นทะเบียนแล้วคือ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ส่วนไฟเซอร์และยี่ห้ออื่นจะดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อขึ้นทะเบียนและนำเข้าเพิ่มเติมให้ได้ 100 ล้านโดส และภายในสิ้นปีนี้ คาดว่าจะฉีดให้ประชาชนได้ประมาณ 50 ล้านคน มีทั้งฉีดเข็มแรกและเข็มที่สอง” นายดนุชากล่าว และว่า เบื้องต้นจะขอความร่วมมือภาคเอกชนในการจัดสถานที่สำหรับฉีดวัคซีน หรือรับไปฉีดให้กับภาคอุตสาหกรรม ตั้งเป้าว่าใน 3 เดือนข้างหน้าจะต้องฉีดให้ได้อย่างน้อยวันละ 3 แสนคนรวม 30 ล้านคน ส่วนรายละเอียดต่างๆ จะได้ข้อสรุปในวันที่ 28 เมษายนนี้

 

ข่าวจาก : มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: