ฤกษ์ออกรถ ปี 2559





ตั้งแต่ครั้งโบราณมาคนไทยมีความเชื่อว่าหากจะกระทำการใดให้ราบรื่นและประสบความสำเร็จได้นั้น การหาฤกษ์ยามที่ดี คือสิ่งสำคัญสำหรับการเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างบ้านปลูกเรือน การขึ้นบ้านใหม่ การคลอดลูก รวมทั้งงานมงคลสมรสถือได้ว่าเรื่องของฤกษ์ยามนั้น เป็นหลักเกณฑ์ที่มีบทบาทในชีวิตประจำวัน และวัฒนธรรมของคนไทยมาตั้งแต่แรกเกิดเลยทีเดียว 

 

ในส่วนของการหาฤกษ์ยามสำหรับการออกรถก็เช่นกัน การถือฤกษ์งามยามดี หรือวันดี เวลาดี ก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่เป็นศิริมงคลกับผู้ครอบครอง
 

rent-a-car-kompanii

ภาพประกอบจาก city-car-bg.com

ปี 2559 ควรออกรถวันไหน?

ในตำราโหราศาสตร์ฤกษ์ออกรถจะแนะนำหรือห้ามออกรถในวันใดนั้น จะพิจารณาร่วมกับลักษณะความเป็นอยู่ของดาวประจำวันนั้น ๆ สรุปดังนี้ 

 

ไม่ควรซื้อรถวันอาทิตย์ 
โบราณท่านว่า ใครซื้อรถในวันอาทิตย์ จะทำให้มีเรื่องร้อนใจหรือต้องเดือดร้อนมาก ท่านแนะนำว่า ให้รีบขายไปเสียเพราะการซื้อรถหรือยานพาหนะในวันอาทิตย์มักเกิดเรื่องไม่ดีเลย 

 

ควรซื้อรถวันจันทร์ 
ตามตำราท่านว่า ใครซื้อรถวันจันทร์มักโชคดีได้ลาภอยู่เสมอ ทำธุรกิจหรือค้าขายมีกำไรมากบางครั้งมีลาภลอยมาหาอย่างนึกไม่ถึง 

 

ไม่ควรซื้อรถวันอังคาร 
ในตำราโหราศาสตร์กล่าวไว้ว่า ใครที่ซื้อรถหรือยานพาหนะในวันอังคารมักจะมีเรื่องเดือดร้อน ทำให้เป็นทุกข์มีปัญหาทำให้เสียเงินทอง บางรายประสบอุบัติเหตุอย่างร้ายแรง ก็ปรากฏให้เห็นบ่อย 

 

ไม่ควรซื้อรถวันพุธ 
เป็นความเชื่อมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายว่า ใครที่ซื้อรถวันพุธมักจะมีปัญหาต่าง ๆ จนต้องเป็นหนี้สินเขาตลอดด้วยเหตุ นี้เองท่านจึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการซื้อรถหรือจองรถในวันพุธ 

 

ไม่ควรซื้อรถวันพฤหัสบดี 
โบราณท่านว่า ใครที่ซื้อรถหรือยานพาหนะในวันครูจะทำให้ธุรกิจ หรือการค้าขายเกิดมีปัญหา มีอุปสรรคไม่คล่องตัวอย่างแต่ก่อน และที่สำคัญอาจเกิดเรื่องไม่สบายใจ

 

ควรซื้อรถวันศุกร์ 
ตามตำราโหราศาสตร์ไทยท่านว่า ใครที่ซื้อรถหรือยานพาหนะในวันศุกร์ มักมีโชค มีลาภอยู่เสมอ ทำการอะไรก็สะดวกอย่างน่าอัศจรรย์ โดยเฉพาะ จะมีลาภและยศกำลังรอท่านอยู่ 

 

ไม่ควรซื้อรถวันเสาร์ 
ตามตำราโหราศาสตร์ไทยท่านว่า ใครที่ซื้อรถวันเสาร์ ถือเป็นเรื่องร้ายแรงมาก เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุถึงกับชีวิตได้ด้วยเหตุนี้ผู้หลักผู้ใหญ่ในสมันก่อน จึงมักห้ามลูกหลานไม่ให้ซื้อรถและเรือในวันนี้เพาะความเชื่อดังกล่าว 

 

ไม่ควรซื้อรถวันพระ
เป็นความเชื่อมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ไม่ให้ซื้อรถซื้อเรือในวันพระ เพราะอาจจะทำให้ไม่สบายหรือล้มป่วยได้ ศัตรูหรือคู่แข่งจะพากันอิจฉาและอาฆาต 

***เข้าใจว่าเป็นกุศโลบาย เกี่ยวกับการเลี่ยงวันมงคลที่ตรงกับวันพระ ให้คนได้เข้าวัดทำบุญ เพราะไม่ต้องวุ่นอยู่กับการออกรถ หรือการมงคลที่จะมี เพราะสมัยก่อนการมงคลจะเตรียมการ ใช้เวลาและคนหรือชาวบ้านร่วมช่วยงานจำนวนมาก ถ้าไปช่วยงานกันหมดก็จะไม่มีใครไปวัดในวันพระ อีกอย่างคือพระก็ไม่ต้องรับกิจนิมนต์ ได้ทำวัตรสวดมนต์ หรืออยู่ที่วัดในช่วงวันพระด้วย

 

วันในการออกรถ
ข้างต้นพูดถึงวันไปแล้วว่าวันใดควรหรือไม่ควรออกรถ ในมุมมองลักษณะความเป็นอยู่ ความเป็นมงคลของดาวประจำวัน เมื่อทราบแล้วมาดูการพิจารณาเงื่อนไขหาวันที่ดีและเหมาะสมอีกข้อก็คือ ห้ามใช้วันที่เป็นวันกาลกิณีกับวันเกิดของเจ้าของรถ ซึ่งมีหลักพิจารณา ตามภูมิทักษาของแต่ละวันเกิด  ดังนี้  
 

คนเกิดวันอาทิตย์ ห้ามใช้ฤกษ์วันศุกร์ ต่อให้ฤกษ์ดีอย่างไรก็ไร้ผล ควรหลีกเลี่ยง
คนเกิดวันจันทร์ ห้ามใช้ฤกษ์วันอาทิตย์ ต่อให้ฤกษ์ดีอย่างไรก็ไร้ผล ควรหลีกเลี่ยง
คนเกิดวันอังคาร ห้ามใช้ฤกษ์วันจันทร์ ต่อให้ฤกษ์ดีอย่างไรก็ไร้ผล ควรหลีกเลี่ยง
คนเกิดวันพุธ(กลางวัน) ห้ามใช้ฤกษ์วันอังคาร ต่อให้ฤกษ์ดีอย่างไรก็ไร้ผล ควรหลีกเลี่ยง
คนเกิดวันพุธ(กลางคืน) ห้ามใช้ฤกษ์วันพฤหัสบดี ต่อให้ฤกษ์ดีอย่างไรก็ไร้ผล ควรหลีกเลี่ยง
คนเกิดวันพฤหัสบดี ห้ามใช้ฤกษ์วันเสาร์ ต่อให้ฤกษ์ดีอย่างไรก็ไร้ผล ควรหลีกเลี่ยง
คนเกิดวันศุกร์ ห้ามใช้ฤกษ์วันพุธ(กลางคืน) ต่อให้ฤกษ์ดีอย่างไรก็ไร้ผล ควรหลีกเลี่ยง
คนเกิดวันเสาร์ ห้ามใช้ฤกษ์วันพุธ(กลางวัน) ต่อให้ฤกษ์ดีอย่างไรก็ไร้ผล ควรหลีกเลี่ยง


***วันที่ออกรถ คือวันแรกที่ขับรถออกจากศูนย์ หรือเต้นท์ขับไปใช้จริง ๆ เริ่มต้นใช้จริงในทางพฤตินัย ไม่ได้หมายถึงทดลองขับหรือวันเปลี่ยนเจ้าของในทางทางนิตินัย เพราะการซื้อระยะผ่อนอาจยาวนาน 4-5 ปี กว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งระหว่างใช้รถนั้นอยู่อาจเกิดเหตุก็ได้ จึงนับวันที่ขับไปใช้จริง ๆ ตั้งต้น

 

เวลาที่ควรนำรถออกจากโชว์รูมหรือเต้นท์ 
วันอาทิตย์
ควรนำรถออกเวลา 06.01 น. ถึง 08.24 น. และช่วงเวลา 13.13 น. ถึง 15.36 น. 

วันจันทร์
ควรนำรถออกเวลา 08.25 น. ถึง 10.48 น.และช่วงเวลา 15.37 น. ถึง 18.00 น.

วันอังคาร
ควรนำรถออกเวลา 10.49 น. ถึง 13.12 น. และช่วงเวลา 06.01 น. ถึง 08.24 น

วันพุธ
ควรนำรถออกเวลา 13.13 น. ถึง 15.36 น. และช่วงเวลา 08.25 น. ถึง 10.48 น. 

วันพฤหัสบดี
ควรนำรถออกเวลา 15.37 น. ถึง 18.00 น. และช่วงเวลา 10.49 น. ถึง 13.12 น. 

วันศุกร์
ควรนำรถออกเวลา 06.01 น. ถึง 08.24 น. และช่วงเวลา 13.13 น. ถึง 15.36 น. 

วันเสาร์
ตามหลักโหราศาสตร์ ถือเป็นวันดุ หรือวันแรงโบราณ ท่านว่าห้ามนำรถ หรือยานพาหนะออกจากเต้นท์ หรือจากอู่ ควรหลีกเลี่ยง

***ที่จริงมีรายละเอียดเรื่องสีรถประจำวันเกิด ทิศที่ควรออกรถ แต่เกรงว่าจะซับซ้อนและยาวเกินไป เลยขอพูดแค่เฉพาะฤกษ์ยามแค่นั้นก่อน
 

ในวันที่ออกรถ ขอให้เตรียมเตรียมพระพุทธรูปเล็ก ๆ ที่พอจะวางหรือเก็บไว้ประจำรถได้ 1 องค์ อาจพระเครื่อง พระเหรียญก็ได้ พร้อมพวงมาลัยดอกไม้ 3 พวง อาจมีธูปเทียนด้วยก็ได้ พวงมาลัยพวงแรกใช้ไหว้พระ และเจ้าที่เจ้าทางสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ศูนย์รถหรือเต้นท์รถนั้น ๆ ก่อนออกรถ บอกกล่าวขอพร ขอฤกษ์ขอชัย ขอศิริมงคล

พวงมาลัยพวงที่สอง และพระพุทธรูปวางที่รถ ไหว้พระ บอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำรถ เพราะรถก็เหมือนเกวียน เหมือนเรือ ที่โบราณเชื่อว่ามีแม่ย่านางหรือเทวดาดูแลอยู่ เมื่อได้เวลาออกรถ สตาร์ตรถ ก่อนออกรถตั้งสติตั้งสมาธิให้ดี บีบแตร 3 ครั้ง แล้วขับรถตามทิศทางที่เลือกไว้ 

ส่วนพวงมาลัยพวงที่3 ใช้ไหว้พระ และบอกกล่าว ขอพร ขอฤกษ์ขอชัย ขอศิริมงคล เจ้าที่เจ้าทางสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่บ้าน หรือที่ที่รถจะไปอยู่ประจำ ก็เป็นอันเสร็จสิ้นในส่วนของออกรถ

 

****ตรงนี้เป็นความเชื่อเป็นศิริมงคล บางท่านอาจคิดว่างมงาย แต่มันเป็นเรื่องของความเชื่อ และความเชื่อตรงนี้ไม่ทำร้าย ให้ร้ายใคร ต้องบุกน้ำลุยไฟหรือยุ่งยากลำบากจนเกินไป การไหว้พระการบูชาด้วยดอกไม้เป็นสิ่งที่เป็นมงคล ถ้าไม่ติดขัดอะไรแนะนำให้ทำ

 

ส่วนเรื่องสายสิญจ์ผูกพวงมาลัยรถ ผูกรถ หรือแป้งเจิมรถ ถ้าไม่สะดวกให้พระที่นับถือ หรือผู้ใหญ่ที่นับถือผูกให้ ก็ให้คุณพ่อคุณแม่ผูกให้ก็ได้ การที่ลูกมีรถใหม่ มีความเจริญก้าวหน้า ความยินดีภูมิใจปลื้มใจของพ่อแม่เป็นพรที่ดีเป็นศิริมงคลที่สุดสำหรับลูกแล้ว


ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.myhora.com/

เรียบเรียงใหม่โดย Thaijobsgov

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: