7 สายการบินลั่น 3 เดือนบินไม่ได้ตายยกฝูง วอนรัฐอุ้มซอฟต์โลน 5 พันล้าน





7 สายการบินโอด 1 ปีกว่าไร้เสียงตอบรับซอฟต์โลนจากรัฐ หั่นลดวงเงินเหลือแค่ 5 พันล้านก็ยังเงียบ เผย 1 ปี 5 เดือน 7 สายการบินแบกรับต้นทุนแค่การจ้างงานอย่างเดียว 1.5 หมื่นล้าน ลั่นหากโควิดคุมไม่อยู่ บินไม่ได้แค่ 3 เดือนทุกสายการบินตายเรียบแน่ วอนรัฐอุ้มซอฟต์โลนโดยด่วน

วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 สมาคมสายการบินประเทศไทย นำโดยนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคม และคณะกรรมการของ 7 สายการบิน จัดประชุมนัดพิเศษในรูปแบบ virtual conference หลังถูกระงับบินชั่วคราวตามคำสั่งของ ศบค. ตั้งเเต่วันนี้ (21 กรกฎาคม 2564) โดยออกเเถลงการณ์ร่วม เพื่อติดตามความคืบหน้าเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ที่ทางรัฐบาลจะจัดสรรให้กับสายการบินทั้ง 7 สาย

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ สมาคมสายการบินประเทศไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 ส่งผลกระทบทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชลอตัวลง บางกิจการต้องหยุดการดำเนินการชั่วคราว รวมถึงการขนส่งทางอากาศ ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในรอบ 10 ปี

ทางสมาคมฯจึงได้ยื่นเอกสารเพื่อขอให้รัฐบาลสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลนไปตั้งเเต่การระบาดของโควิด-19 รอบเเรกเมื่อเดือนมีนาคม 2563 และมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทางสมาคมฯยังได้เข้าพบ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 เพื่อร้องขอให้เร่งพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ทางสมาคมฯได้ส่งหนังสือติดตามล่าสุดอีกครั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา กระทั่งปัจจุบันก็ยังคงไม่ได้รับการพิจารณาจากรัฐบาล รวมเป็นระยะเวลากว่า 478 วัน หรือรวม 17 เดือน นับตั้งแต่วันแรกที่ทางสมาคมฯ ยื่นหนังสือฯ

ทั้งนี้ ล่าสุดสมาคมฯ ได้ปรับลดตัวเลขวงเงินการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) รวมของทั้ง 7 สายการบิน จากจำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท (จากการยื่นขออนุมัติครั้งเเรกเมื่อเดือนมีนาคม 2563) เหลือเพียง 5 พันล้านบาท เพื่อใช้ในการรักษาการจ้างงานพนักงานสายการบินทั้ง 7 สาย รวมเกือบ 2 หมื่นคนในครึ่งปีหลังของ 2564

“ตลอด 1 ปี 5 เดือนที่ผ่านมา ทั้ง 7 สายการบินได้พยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือตัวเอง เเละปรับตัวเพื่อประคองธุรกิจให้รอดจากสถานการณ์อันยากลำบากครั้งนี้ แต่ก็ยังพบว่าทั้ง 7 สายการบินแบกรับเรื่องการจ้างงานอย่างเดียวราว 1.5 หมื่นล้านบาท เรายังมีความหวังว่ารัฐบาลจะช่วยเร่งดำเนินการอนุมัติซอฟต์โลนโดยเร็วที่สุด เพราะนี่คือลมหายใจเฮือกสุดท้ายของสายการบินแล้ว” นายพุฒิพงศ์กล่าว

นายนัตดา บูรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีเครื่องบินที่ต้องจอดนิ่งรวมกว่า 170 ลำ และมีค่าใช้จ่ายในส่วนของเงินเดือนพนักงานทั้งสิ้นรวมเกือบ 1,000 ล้านบาทต่อเดือน

นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนด้านการปฏิบัติการบินและการบำรุงรักษาเครื่องบินอีกจำนวนมหาศาล ซึ่งทางสมาคมฯ ประเมินว่าอาจจะเเบกรับภาระไม่ไหว หากไม่ได้รับมาตรการช่วยเหลือ เเละเยียวยาจากภาครัฐโดยเร่งด่วน และอาจส่งผลต่อการกลับมาให้บริการในอนาคตของสายการบิน

ด้านนายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียตเจ็ท กล่าวเสริมว่า วงเงินซอฟต์โลน 5,000 ล้านบาทที่ทางสมาคมฯ ยื่นเสนอขอไปล่าสุดนี้ เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการพยุงการจ้างงานของทั้ง 7 สายการบิน ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกมหาศาลที่ทุกสายการบินต้องแบกรับภาวะไว้ในช่วงที่มีคำสั่งให้หยุดทำการบินครั้งนี้

“ตอนนี้เรายังไม่อยากประเมินสถานการณ์ว่าภาพรวมธุรกิจสายการบินจะเป็นอย่างไรเพราะตัวแปรสำคัญขึ้นอยู่กับจำนวนวัคซีน การกระจายวัคซีน รวมถึงสภาพคล่องของแต่ละสายการบิน แต่บอกได้เลยว่าหากสถานการณ์ทำให้สายการบินต้องหยุดบินเกิน 3 เดือนวันนั้นคงไม่มีสายการบินเหลืออยู่บนหน้าฟ้าแล้ว ตายหมดทุกรายแน่นอน” นายวรเนติกล่าว

และว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางสมาคมฯก็มองในแง่ดีว่าถ้าได้รับการสนับสนุนซอฟต์โลนจากรัฐบาล 5,000 ล้านบาทรอบนี้จะทำให้ทั้ง 7 สายการบินสามารถประคองการจ้างงานไปได้จนถึงสิ้นปี และเมื่อถึงวันที่รัฐบาลต้องการกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจและการเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้งทุกสายการบินก็พร้อมที่จะเป็นหัวหอกในการนำนักท่องเที่ยวเข้ามา และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป ดังนั้นจึงหวังว่าเราจะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล

 

ข่าวจาก : ประชาชาติธุรกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: