ธปท. “ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อบ้าน” หวังกระตุ้นเม็ดเงินเข้าภาคอสังหาริมทรัพย์จากพิษโควิด-19 คาดสร้างการจ้างงานได้ 2.8 ล้านคน
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ LTV) เป็นการชั่วคราว จะเป็นการเร่งเพิ่มเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องจำนวนมาก หลังอยู่ในภาวะซบเซาจากอุปสงค์ที่อ่อนแอและภาคก่อสร้างที่ได้รับผลจากการระบาดของโควิด 19
ซึ่งสาระสำคัญของการผ่อนคลายมาตรการ LTV ในครั้งนี้ คือ
1. กำหนดให้เพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) เป็น 100% (กู้ได้เต็มมูลค่าหลักประกัน) สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (รวมสินเชื่ออื่นนอกเหนือจากเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยและมีที่อยู่อาศัยนั้นเป็นหลักประกันหรือสินเชื่อ Top-up แล้ว) ทั้งกรณี
– มูลค่าหลักประกันต่ำกว่า 10 ล้านบาท ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 2 เป็นต้นไป
– มูลค่าหลักประกันตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 1 เป็นต้นไป
หมายเหตุ : LTV ของสัญญากู้หลังแรก ของที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ร้อยละ 100 จึงไม่ผ่อนคลายเพิ่มเติม
2. การผ่อนคลายนี้ให้เป็นการชั่วคราว สำหรับสัญญาเงินกู้ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
ธปท. คาดว่าการผ่อนคลายมาตรการ LTV ในครั้งนี้ จะช่วยดึงเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีความสำคัญและมีธุรกิจเกี่ยวเนื่อง คิดเป็นกว่า 9.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และมีการจ้างงานรวมกว่า 2.8 ล้านคน
นอกจากนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังไขข้อสงสัยเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า มาตรการที่ออกมาใหม่นี้ไม่ได้หมายความว่าได้ยกเลิกมาตรการเดิม แต่เป็นการ ผ่อนคลาย มาตรการเดิมที่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยต้องวางเงินดาวน์ขั้นต่ำ 10-30% ปรับเป็นการวางเงินดาวน์ได้ต่ำสุด 0% เป็นการชั่วคราวถึงสิ้นปี 2565
และที่กำหนดเป็นมาตรการชั่วคราวก็เพื่อให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะเวลาที่ต้องการแรงสนับสนุนในการฟื้นตัว และความเสี่ยงจากการเกร็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์น่าจะยังมีจำกัด โดยคาดว่าการเกร็งกำไรจะอยู่ในระดับต่ำเพราะภาวะเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระดับที่ฟื้นตัวช้า สถาบันการเงินมีความรัดกุมในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำ
ส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงก็ไม่ได้มาจากหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่มาจากหนี้บัตรเครดิตและหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งเป็นหนี้ระยะสั้น
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว ไม่มีผลย้อนหลัง จะมีผลเฉพาะผู้ทำสัญญาขอสินเชื่อบ้านและสินเชื่อ Top-Up ในช่วงวันที่ 20 ต.ค.2564 – 30 ธ.ค.2565 และรีไฟแนนซ์กับสถาบันการเงิน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
ธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่า มาตรการนี้จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังริมทรัพย์ ซึ่งมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องจำนวนมาก เช่น ภาครับเหมาก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานสูง นำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมได้
ข่าวจาก : PPTV Online
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ