ปีนี้ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้เข้าร่วมประชุมกับอาเซียนและประกาศว่าจะมีการลงทุนกับกลุ่มประเทศอาเซียน 102 ล้านดอลลาร์เพื่อขยายความร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียนและเน้นสานสัมพันธ์กับภูมิภาค อินโด-แปซิฟิก
ในการเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำประชาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนซัมมิทในวันที่ 26 ต.ค.2564 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ได้ประกาศว่าจะมีการลงทุนมูลค่าสูงสุด 102 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3,390 ล้านบาท) โดยการประกาศนี้มาพร้อมกับการที่รัฐบาลไบเดนมุ่งเน้นมาที่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมากขึ้น หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่เข้าร่วมการประชุมอาเซียนระหว่างปี 2561-2563
ไบเดนกล่าวในการประชุมว่า “พวกคุณคาดหวังได้เลยว่าจะเห็นผมปรากฏตัวด้วยตัวเองและยื่นมือเข้าหา พวกคุณคาดหวังได้เลยว่าจะได้เห็นสหรัฐอเมริกาดำเนินความร่วมมือที่มีมานานให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น มุ่งแสวงหาหนทางในการหารือทางการบริหารปกครอง ลงทุนในประเทศของพวกเรา และขับเคลื่อนความเจริญรุ่งเรืองอย่างคำนึงถึงครอบคลุมในภูมิภาคที่มีความสำคัญนี้”
ไบเดนแถลงต่อกลุ่มผู้นำอาเซียนอีกว่า “ใจความสำคัญของพวกเราก็คืออาเซียนมีความสำคัญต่อการออกแบบโครงสร้างศูนย์กลางภูมิภาคของอินโด-แปซิฟิก และสหรัฐอเมริกาก็มีพันธกิจในการเน้นศูนย์กลางอาเซียน”
นอกจากนี้ไบเดนยังได้พูดถึงอาเซียนว่าไม่เพียงแค่มีผลประโยชน์ร่วมกันกับสหรัฐฯ ในหลายด้านเท่านั้น แต่ยังมีทั้ง “ค่านิยมร่วมกัน” และ “วิสัยทัศน์ร่วมกัน” ที่จะให้ทุกประเทศแข่งขันและประสบความสำเร็จในการยกระดับให้แข่งขันกันได้อย่างเท่าเทียม รวมถึงให้ทุกชาติเล่นอยู่ในกฎกติกาไม่ว่าชาติจะใหญ่หรือมีอำนาจมากขนาดไหนก็ตาม
ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งนี้มีกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งหมดยกเว้นพม่าที่ถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมชุมนุมเนื่องจากกรณีรัฐประหารที่เกิดขึ้นในประเทศช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่นอกจากประเทศกลุ่มอาเซียนและไบเดน จากสหรัฐฯ แล้วยังมีแขกรับเชิญพิเศษเป็นประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน และเจ้าหน้าที่จากจีนกับเกาหลีใต้เข้าร่วมด้วยในวันเดียวกันกับที่ไบเดนเข้าร่วมด้วย
ในเงินลงทุนจากสหรัฐฯ นั้นมี 40 ล้านดอลลาร์ (ราว 1,330 ล้านบาท) ที่จัดสรรไว้สำหรับการเร่งการวิจัยด้านระบบการสาธารณสุขเพื่อเสริมประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาสุขภาวะของทรัพยากรมนุษย์ในรุ่นถัดไปผ่านทาง “โครงการริเริ่มอนาคตสาธารณสุขสหรัฐฯ-อาเซียน” จากข้อมูลของทำเนียบขาวระบุว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันสหรัฐฯ ได้ลงทุนส่งเสริมโครงการสาธารณสุขระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียนในวงเงินรวมแล้ว 3,000 ล้านดอลลาร์
นอกจากนั้นเงินทุนจากสหรัฐฯ อีกส่วนหนึ่งประมาณ 20.5 ล้านดอลลาร์ (ราว 684 ล้านบาท) จะถูกจัดสรรเป็นโครงการริเริ่มด้านการแก้ไขปัญหาโลกร้อนหรือที่เรียกว่าวิกฤตภูมิอากาศโดยมีเป้าหมายเร่งด่วนในการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ในส่วนของเงินทุนที่เหลือจะมีการจัดสรรแบ่งไปเป็นโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโรคระบาด COVID-19 และโครงการกู้ยืมที่เกี่ยวกับการศึกษาในกลุ่มประเทศสมาชิก
ข่าวจาก ประชาไท
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ