เฉลยความลับ ปูเสื่อนอนกลางน้ำ ชิลเหมือนบนเตียง ทำได้ไง





คลิปไวรัล ปูเสื่อนอนกลางน้ำไม่จม นอนชิลเหมือนอยู่บนเตียง ทำได้ยังไง ด้าน อ.เจษฎ์ อธิบายแล้วสามารถทำได้จริง ด้วยหลักการเพียง 2 อย่างเท่านั้น

เป็นคลิปไวรัลที่คนกดไลก์กดแชร์กันจำนวนมาก สำหรับคลิป TikTok ที่นำเสื่อพลาสติกโยนลงในน้ำ จากนั้นคนกระโดดลงไปนอน ซึ่งแทนที่จะจมน้ำ แต่กลับลอยได้เหมือนเรือ ทำหลายคนสงสัยว่าทิ้งตัวนอนบนน้ำแบบนี้ เสื่อสามารถลอยน้ำได้จริงเหรอ แล้วทำไมถึงเป็นอย่างนั้นได้

ล่าสุด วันที่ 25 มีนาคม 2565 เฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ของ รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้คำตอบเรื่องนี้โดยลองจินตนาการง่าย ๆ กับกระทง ทำไมกระทงใบใหญ่ ๆ ถึงลอยน้ำได้ ทั้งที่ก็มีน้ำหนักไม่เบาเลย ซึ่งอาศัยหลักทางฟิสิกส์ที่เรียกว่า “แรงลอยตัว” และ “ความหนาแน่น”

แรงลอยตัว

แรงลอยตัว หรือ แรงพยุง (buoyancy force, FB) เป็นแรงดันที่ของเหลวกระทำต่อวัตถุในทิศทางตรงกันข้ามกับน้ำหนักของวัตถุ ตามธรรมชาติแล้ว วัตถุจะถูกดึงลงด้วยแรงโน้มถ่วงของโลก (gravity force) แต่ด้วยแรงลอยตัวนี้เองที่ทำให้วัตถุไม่จมลงไป

แรงลอยตัวเท่ากับความหนาแน่นของของเหลว คือ มวลต่อหนึ่งหน่วยปริมาตร คูณด้วย ปริมาตรวัตถุส่วนที่จมในของเหลว คูณด้วย ค่าความเร่งโน้มถ่วงของโลก (FB = pVg)

@phung.8256ลมแรงๆเย็นสบายดีจัง

♬ เสียงต้นฉบับ – thairaptv

ความหนาแน่นของวัตถุและของเหลว

นอกจากนี้ การลอยตัวของวัตถุ ยังขึ้นอยู่กับความหนาแน่น (density) ของวัตถุนั้น และของเหลวที่วัตถุนั้นลอยอยู่อีกด้วย โดยความหนาแน่นจะคิดจากมวลต่อปริมาตร เช่น ไม้ชิ้นหนึ่งมีความหนาแน่น 0.9 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร สามารถลอยได้ในน้ำซึ่งมีความหนาแน่น 1 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร

วัสดุหลายชนิดที่เอามาทำกระทง มักจะมีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำ เช่น โฟม ลำต้นกล้วย ขนมปัง ฯลฯ วัสดุเหล่านั้นมีช่องว่างภายในอยู่มาก ทำให้มีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำและลอยน้ำได้

ทั้งนี้ ยิ่งถ้ากระทงมี “ปริมาตร” หรือ “พื้นที่ผิวสัมผัสกับน้ำ” มากขึ้นเท่าไร ความหนาแน่นของกระทงจะยิ่งลดลง ขณะที่แรงลอยตัวก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น หากเราทำกระทงให้มีขนาดใหญ่และมีขอบโค้งขึ้นมาเหมือนกับเรือ กระทงนั้นก็จะยิ่งลอยตัวได้ดีเลยทีเดียว ดังนั้น การที่กระทงสามารถลอยตัวอยู่ในน้ำได้ เนื่องจากวัสดุที่ทำกระทงมีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำ และน้ำมีส่วนช่วยดันวัตถุให้ลอยขึ้นมา

เสื่อลอยน้ำได้

เมื่อเทียบกับกรณีของเสื่อพลาสติกลอยน้ำได้ จะเห็นว่า ด้านในของเสื่อทำจากวัสดุฟองน้ำ มีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำ แผ่ออกเป็นแผ่นใหญ่และกว้าง ทำให้มีแรงลอยตัวสูงมากขึ้น เพียงพอที่จะรองรับน้ำหนักตัวคนที่ไม่มากเกินไป ซึ่งนอนในท่าที่กระจายน้ำหนักออกไปทั่วทั้งผืน แต่ถ้าม้วนเสื้ออันเดียวกันเป็นแท่งแล้วโยนน้ำ ให้คนขี่บนม้วนเสื้อ จะทำให้พื้นที่ผิวสัมผัสน้ำน้อยลงมาก ขณะที่น้ำหนักเท่าเดิม เสื่อและคนก็จะจมน้ำได้

ป.ล. ไม่แนะนำให้ไปทดลองทำตามกันเองโดยไม่มีคนช่วยดูแล โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ๆ และคนที่ว่ายน้ำไม่เป็น เดี๋ยวพลาดจมน้ำขึ้นมาก็แย่เลย

 

ที่มา : kapook

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: