วันที่ 17 มิถุนายน 2565 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) รายงานข้อมูลข้อมูลคณะทำงาน ส.ว. ทั้ง 250 คน ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 พบว่า ส.ว. มีการแต่งตั้งเครือญาติของตนเองเข้ามาเป็นคณะทำงานมากกว่า 50 ราย
ในรายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น ส.ว. จะได้รับเงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 71,230 บาท และได้รับเงินเพิ่มเดือนละ 42,330 บาท รวมเป็นเดือนละ 113,560 บาท ซึ่งเป็นค่าตอบแทนจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มาจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้ค่าตอบแทนยังไม่รวมส่วนที่เป็นเบี้ยประชุมในคณะกรรมาธิการ เบี้ยเลี้ยงในกรณีที่เดินทางไปนอกสถานที่ และสวัสดิการอื่น ๆ ด้วย
ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 ถึงเดือนพฤษภาคม 2565 หรือภายในระยะเวลา 3 ปี ที่ ส.ว.แต่งตั้งทั้ง 250 คนเข้ารับตำแหน่งในวุฒิสภา มีการจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนให้กับ ส.ว. และคณะทำงานไปแล้วอย่างน้อย 2,230,569,000 บาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ไอลอว์ ได้ยื่นขอข้อมูลได้ใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 เพื่อขอข้อมูลรายชื่อผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวของสมาชิกวุฒิสภาทุกคนจากสำนักเลขาธิการวุฒิสภา
ต่อมาในวันที่ 13 มิถุนายน 2565 สำนักเลขาธิการวุฒิสภาได้ส่งหนังสือตอบกลับโดยระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่อาจเปิดเผยได้ พร้อมทั้งระบุว่า สามารถอุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารได้ภายใน 15 วัน
ทางไอลอว์จะดำเนินการอุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อไป เนื่องจากเห็นว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะที่ทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาสามารถเก็บรวบรวมและเปิดเผยได้ เพราะตำแหน่งดังกล่าวเป็นตำแหน่งทางการเมืองที่มีการสนับสนุนจากเงินงบประมาณของประเทศ
ดังนั้น สาธารณชนย่อมมีสิทธิที่จะรับรู้ถึงการแต่งตั้งบุคคลดังกล่าว อีกทั้งลำพังเพียงรายชื่อและตำแหน่งของคณะทำงาน ส.ว. นั้นก็เป็นข้อมูลที่พึงรับรู้ได้ไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหวแต่ประการใด
จากข้อมูลที่ไอลอว์ได้รับมา ณ วันที่ 30 ก.ย. 2563 พบว่า ส.ว. มีการแต่งตั้งเครือญาติของตัวเองเข้ามาเป็นคณะทำงานมากกว่าครึ่งร้อย โดยแบ่งรูปแบบการแต่งตั้งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. การแต่งตั้งบุคคลที่ความเกี่ยวข้องโดยตรง หรือ การแต่งตั้งให้ญาติเข้ามาเป็นคณะทำงานของตัวเอง
ยกตัวอย่างเช่น นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ที่มีการแต่งตั้ง นายพันธวัสย์ รัตนวราหะ เป็นผู้ชำนาญการ และนายลักษ์คณา รัตนวราหะ เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน หรือนายถาวร เทพวิมลเพชรกุล แต่งตั้งนายทศพร เทพวิมลเพชรกุล และนายธนพล เทพวิมลเพชรกุล เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน หรือนายพลเดช ปิ่นประทีป แต่งตั้งนางวณี ปิ่นประทีป เป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น
2. การแต่งตั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตัวเองไว้กับบุคคลอื่น หรือ การนำญาติของตัวเองไปฝาก กับ ส.ว. คนอื่น
- พล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ แต่งตั้ง นายวัชรชนก วงษ์สุวรรณ (ญาติของพลเรือเอก ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี) เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน
- นายสมชาย แสวงการ แต่งตั้ง อามาจรี เสริมสุข (ญาติของ ส.ว. จัตุรงค์ เสริมสุข) เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน และ จัตุรงค์ เสริมสุข แต่งตั้ง เอกชัย แสวงการ (ญาติของนายสมชาย แสวงการ) เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน เป็นต้น
นอกจากนี้ จากข้อมูลคณะทำงานของ ส.ว. เมื่อปี 2563 พบด้วยว่า ส.ว. ที่มีญาติตัวเองเป็นคณะทำงานมากที่สุดคือ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ และนายถาวร เทพวิมลเพชรกุล จำนวน 3 คน โดยนายกิตติศักดิ์ ได้แต่งตั้งญาติตัวเอง 2 คน และนามสกุลรัตนวราหะ 1 คน อยู่ในคณะทำงานของนายกรรณภว์ ธนภรรคภวิน ในขณะที่ถาวรแต่งตั้งญาติทั้ง 3 คนเป็นคณะทำงานของตนเองทั้งหมด
ส่วนญาติของ ส.ว. ที่ ฝากเข้าทำงาน เช่น นายเอกชัย แสวงการ ญาติของนายสมชาย แสวงการ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยดำเนินงานของนายจัตุรงค์ เสริมสุข ในขณะที่ นางอามาจรี เสริมสุข ญาติของนายจัตุรงค์ เสริมสุข ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยดำเนินงานของนายสมชาย แสวงการ เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ คณะทำงานของ ส.ว. พบว่ามี บุคคลในเครื่องแบบทั้งทหารและตำรวจ ถึง 493 คน โดยเป็นบุคคลที่ตำแหน่งตั้งแต่ พล.ต. หรือ พล.ต.ต. ถึง พล.อ.หรือ พล.ต.อ. จำนวน 188 คน นอกจากนี้ยังพบว่า มียศระดับนายพันหรือนาวา อยู่จำนวน 119 คน นอกจากนั้นเป็น ทหารหรือตำรวจยศร้อยตรีลงมา มีทหารตำรวจชั้นประทวน 37 คน
ทั้งนี้ ส.ว. หลายคนมีคณะทำงานเป็นทหารหรือตำรวจทั้งหมด 8 คน หรืออย่างน้อยก็เกือบทั้งชุด เช่น
- พล.อ.กนิษฐ์ ชาญปรีชญา มีคณะทำงานเป็นทหารตั้งแต่ยศ พล.อ.ไปจนถึง สิบตรีทั้งหมด 8 คน
- พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ มีคณะทำงานเป็นทหารอากาศทั้งหมด
- พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ มีทหารอยู่ในคณะทำงานทั้งหมด 7 จาก 8 คน
- พล.ต.ท.สมหมาย กองวิสัยสุข มีคณะทำงานเป็นตำรวจ 6 คนและอีก 1 คนเป็นญาติของตัวเอง
ทั้งนี้ แม้ ส.ว.ที่เป็นทหารอยู่แล้วก็มักมีคณะทำงานเป็นทหารตามไปด้วย แต่ก็มี ส.ว. สายพลเรือนที่มีทหารหรือตำรวจอยู่ในคณะทำงานด้วยเช่นกัน เช่น ณรงค์ รัตนานุกูล ซึ่งมีคณะทำงานเป็นพลตำรวจเอก 2 คนและพันตำรวจเอกอีก 1 คน
คณะทำงาน 8 คน 3 ปี ใช้งบฯกว่าพันล้าน
หนังสือคู่มือชื่อ “สิทธิประโยชน์ของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ” ฉบับที่ตีพิมพ์เดือนเมษายน 2562 ก่อนการแต่งตั้งวุฒิสภาชุดปัจจุบันพอดี กำหนดค่าตอบแทนในการนั่งอยู่ในตำแหน่งของ ส.ว. และกำหนดค่าตอบแทนสำหรับตำแหน่งต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการทำงานของ ส.ว. ได้ ดังนี้
- ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ส.ว. คนละ 1 ตำแหน่ง ค่าตอบแทนเดือนละ 24,000 บาท
- ตำแหน่งผู้ชำนาญการประจำตัว ส.ว. คนละ 2 ตำแหน่ง ค่าตอบแทนเดือนละ 15,000 บาท
- ตำแหน่งผู้ช่วยดำเนินงานของ ส.ว. คนละ 5 ตำแหน่ง ค่าตอบแทนเดือนละ 15,000 บาท
ทั้งนี้ ไอลอว์ ได้ทดลองคำนวณยอดเงินงบประมาณที่ต้องจ่ายเพื่อตำแหน่งดังกล่าวตลอด 3 ปีที่คณะทำงาน ส.ว. ปฏิบัติหน้าที่ จะอยู่ที่ประมาณ 1,162,000,000 บาท
ข่าวจาก : ประชาชาติธุรกิจ
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ