เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า เตรียมหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) เพื่อขยายมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่จะหมดอายุในสิ้นปี 2565 ได้แก่ 1. มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง เหลือ 0.01% โดยเบื้องต้นอยากขยายเพิ่มอีก 1 ปี เนื่องจากเศรษฐกิจมีการฟื้นตัว ซึ่งกระทรวงการคลังต้องการหามาตรการช่วยเหลือเพื่อให้เกิดการฟื้นตัวต่อเนื่อง
2.มาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ที่กำหนดให้เพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) เป็น 100% (กู้ได้เต็มมูลค่าหลักประกัน) สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2565
3.เร่งผลักดันโครงการบ้านล้านหลัง โดยต้องการให้เอกชนเข้ามาร่วมโครงการมากขึ้น ในช่วงที่ภาวะดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยโครงการนี้คณะรัฐมนตรี ได้ขยายสินเชื่อจาก 1.2 ล้านบาท เป็น 1.5 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ 1.99% ระยะเวลา 4 ปี ซึ่งมาตรการนี้จะดูแลผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง
นอกจากนี้ ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น แบงก์รัฐซึ่งถือเป็นกลไกของรัฐบาล ในส่วนของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) อาจจะต้องมีการปรับเพิ่มดอกขึ้นบ้าง แต่ต้องไม่เต็มที่ คลังขอให้ตรึงดอกไว้ให้นานที่สุดเพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่ค่าครองชีพสูงขึ้น
“คลังอยากขอให้แบงก์รัฐตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ให้นานที่สุดก่อน เพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่ในภาพรวมก็ต้องดูนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ด้วยว่ามีทิศทางเป็นอย่างไร ส่วน ธอส.จะขึ้นดอกเบี้ย ก็จะต้องดูนโยบายด้วย หาก ส.ค. นี้ กนง. ปรับขึ้นก็ต้องนำมาพิจารณาประกอบ”
นายอาคม กล่าวอีกว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง มีการเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากขึ้น โดยปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 9-10 ล้านคน จะส่งผลดีกับภาคเศรษฐกิจ และภาคอสังหาริมทรัพย์ให้ฟื้นตัวได้ดีขึ้นในปี 2565 ต่อเนื่องถึงปี 2566 ขณะเดียวกัน ภาคการส่งออกที่ยังโตต่อเนื่อง โดย 5 เดือนขยายตัว 15% จะเป็นปัจจัยเสริมที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้
ข่าวจาก : ข่าวสด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ