ทบทวนข้อกฎหมายเกี่ยวกับ คาร์ซีท หรือ ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก อีกครั้ง ก่อนจะเริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่จะถึงนี้
เรื่องดังกล่าวมีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 7 พฤษาคม 2565 โดยให้เรียกว่า พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 ทั้งนี้ สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ นอกจากเรื่องการกำหนดความปลอดภัยสำหรับเด็กที่เจ้าของรถจะต้องจัดให้มีที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือนั่งในที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปีแล้ว
ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้คือ มาตรา 123 ภายใต้บังคับมาตรา 123/1 ในขณะขับรถยนต์ ผู้ที่อยู่ในรถยนต์ทั้งผู้ขับขี่ และคนโดยสารที่นั่งแถวตอนหน้าและที่นั่งแถวตอนอื่น (เบาะหลัง) ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะโดยสารรถยนต์ หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา 148 ระบุไว้ชัดว่า ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
โดยที่มาตรา 8 จะพบว่า มีการเพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 123/1 มาตรา 123/2 และมาตรา 123/3 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522
“มาตรา 123/1 ในการใช้รถนั่งสองแถว รถบรรทุกคนโดยสารขนาดเล็กที่มีการจัดที่นั่งตามความยาวของรถ รถกระบะ รถกึ่งกระบะ หรือรถยนต์อื่น ตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด หากได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ให้คนโดยสารที่อยู่ในรถยนต์นั้น นอกจากคนโดยสารที่นั่งแถวตอนหน้าได้รับยกเว้น ไม่ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยตามมาตรา 123
(1) การบรรทุกคนโดยสาร ต้องไม่เกินจำนวนตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนดสำหรับรถยนต์แต่ละประเภท และการโดยสารนั้นต้องไม่มีการยืน หรือนั่งโดยสารในลักษณะที่เป็นการเสี่ยงภัยตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนดสำหรับรถยนต์แต่ละประเภทและ
(2) การขับรถยนต์ต้องใช้อัตราความเร็วตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด ซึ่งอาจกำหนดแยกตามประเภทรถยนต์ก็ได้ แต่ต้องไม่เกินแปดสิบกิโลเมตรต่อชั่วโมง
ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับการใช้รถบรรทุกคนโดยสารที่เป็นรถประจำทางที่ไม่ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยตามที่อธิบดีกรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด ในขณะขนส่งคนโดยสารในเส้นทางที่ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่ง
มาตรา 123/2 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ ขับรถยนต์ในขณะที่มีคนโดยสารนั่งแถวตอนหน้าเกินสองคน หรือคนโดยสารที่นั่งแถวตอนหน้านั้นมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 123
มาตรา 123/3 ผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ หรือรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารเพื่อสินจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกต้องแจ้งเตือน หรือจัดให้มีการแจ้งเตือนด้วยวิธีการอื่น เพื่อให้คนโดยสารในรถนั้นปฏิบัติตามมาตรา 123 และมาตรา 123/1(1) ทุกครั้งก่อนการออกรถ ทั้งนี้ตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด”
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ