ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ไขข้อกฎหมายกับ นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม ถึงประเด็น “การประกันตัว” ใน “คดีอาญา” กับเหตุการณ์ หนุ่มอายุ 18 ทำร้ายร่างกาย เด็กชาย 13 จนบาดเจ็บและเสียชีวิต
หลักการพิจารณาปล่อยตัวช่วยคราว คดีอาญา
นายสรวิศ กล่าวว่า การประกันตัวเพื่อปล่อยชั่วคราว ถือเป็นเรื่องที่เป็นไปตามกฎหมาย โดยมาก ศาลจะอนุญาตประกันไว้ก่อน แต่…ถ้าจะไม่ให้ประกัน ก็ต้องมีเหตุหลายประการ อาทิ
1. จำเลยอาจจะหลบหนี
2. จะไปยุ่งกับหลักฐาน หรือไปข่มขู่พยาน
3. ผู้ต้องหามีแนวโน้มว่าจะไปก่อเหตุร้ายผู้อื่น
4. หลักประกันที่เสนอมาไม่น่าเชื่อถือ
5. หากปล่อยตัวออกไป จะส่งผลเสียหายต่อการสอบสวนของตำรวจ
“การที่จะไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีอาญา ต้องมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน 4-5 ประการเหล่านี้”
หลักการพิจารณาเงินประกันตัว…
โฆษกศาลยุติธรรม ยังได้กล่าวถึง “เงินประกัน” ในคดีทำร้ายร่างกาย หรือถึงขั้นเสียชีวิต ว่า ประเด็นของเงินประกัน ไม่ได้มีเรตเงินที่แน่นอน เพราะความผิดคดีอาญานั้น แตกต่างจากความผิดประเภทอื่น เช่น คดียาเสพติด ก็ต้องมาดูจำนวนว่ามากน้อยแค่ไหน
“การทำร้ายร่างกาย พยายามฆ่า หรือฆาตกรรม ไม่ได้มีข้อกำหนดแน่นอนว่าเท่าไร… อย่างเคสที่เกิดขึ้นนี้ มีประเด็นเรื่องการใช้ EM (กำไลอีเอ็ม) ประกอบด้วย ดังนั้น จำนวนเงินที่ใช้ จึงอาจไม่สูงมาก เพราะมีการติดอุปกรณ์ป้องกันการหลบหนี”
นายสรวิศ ยังกล่าวถึงเบื้องหลังว่า วันนั้นตำรวจได้นำตัวผู้ต้องหา มาส่งเมื่อวันเสาร์ ที่ 5 พ.ย. ซึ่งเวลานี้ศาลเปิดให้มีการยื่นประกันตัวทุกวัน เพียงแต่วันนั้นอุปกรณ์ EM มีไม่เพียงพอ จึงให้มีการวางเงินประกันไว้ และนัดให้มาตัด EM ในวันพรุ่งนี้ (10 พ.ย.)
เมื่อถามว่า ผู้ต้องหาได้ประกันตัวออกมา แล้วมาแสดงกิริยา หรือ พูดจาไม่เหมาะสม จนทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลฯ การกระทำลักษณะนี้ จะมีผลต่อการ “ถอนประกัน” หรือไม่ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า “การเพิกถอนประกัน ผมคงตอบไม่ได้ว่าจะเพิกถอนหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องทั้งหมด จะถูกนำมาประกอบเพื่อพิจารณาเป็นดุลยพินิจอยู่แล้ว
“เรื่องนี้ต้องปรับความเข้าใจว่า ตอนที่ให้ประกัน… เวลานั้น จำเลยมาศาลในข้อหา พยายามฆ่า เพราะเด็กยังไม่เสียชีวิต และไม่มีข้อเท็จจริงอื่นเลยว่าเขาจะไปพูด หรือทำอะไร ดังนั้น การพิจารณาเวลานั้นจึงอาศัยตามข้อเท็จจริงเท่านี้ เป็นที่มาของการให้ประกันตัวออกไป เนื่องจาก “จำเลย” อายุไม่มาก แต่หลังจากนั้น จะมีเหตุการณ์ หรือ ข้อเท็จจริงใดเกิดขึ้น ก็ต้องนำมาพิจารณา ไต่สวนด้วย เพื่อให้ศาลเห็น อาทิ มีข้อความว่าจะไปทำร้ายคนอื่น ก็อาจจะเป็นเหตุให้เข้าหลักไม่ให้ประกันตัว คือ มีแนวโน้มว่าจะไปก่อเหตุร้ายผู้อื่น ซึ่งหากเป็นอย่างนั้น และข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้น ศาลอาจจะมีคำสั่งไม่ปล่อยตัวชั่วคราวก็ได้”
โฆษกศาลยุติธรรม อธิบายว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ทุกอย่าง หากพนักงานสอบสวนนำมาแสดงต่อศาล ก็จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาอยู่แล้ว ส่วนผลจะเป็นอย่างไร ก็ต้องขึ้นอยู่กับศาลจะพิจารณา
“ความจริง เขาพ้นความเป็นเยาวชนไปแล้ว เพียงแต่ว่าเขาเพิ่งพ้นเยาวชนมาไม่นาน ฉะนั้น คนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ก็ถือเป็นปัจจัยประการหนึ่งที่ศาลเอามาประกอบ ในการสั่งปล่อยชั่วคราว”
ในช่วงท้าย นายสรวิศ ได้เตือนสติทุกคนว่า ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นใคร เด็ก หรือผู้ใหญ่ เราก็ไม่มีสิทธิไปใช้ความรุนแรงกับคนอื่น การแก้ปัญหาควรใช้สันติวิธี หากเราไปทำร้ายคนอื่นจนบาดเจ็บล้มตาย ก็ถือเป็นการละเมิดศิลธรรม และข้อกฎหมาย ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร หากมีปัญหาจริงๆ คงต้องใช้วิธีการยุติธรรมแก้ปัญหามากกว่า อย่าไปตัดสินหรือลงทุนด้วยตัวเอง
ข่าวจาก : thairath
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ