9 มี.ค.66 นายจุมพล ขุนอ่อน ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 แถลงผลตรวจสอบกรณีบริษัทเอกชนผลิตและจัดจำหน่ายสุขภัณฑ์ใน ต.หนองปลาหมอ อ.หนองแค จ.สระบุรี ที่ให้ผู้สมัครงานตรวจหาเชื้อเอชไอวี ก่อนรับเข้าทำงานและปฏิเสธไม่รับเข้าทำงาน เนื่องจากติดเชื้อว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียน เมื่อส.ค.2564 กสม. พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว แบ่งเป็น 2 ประเด็น
ได้แก่ 1.บริษัทกำหนดให้ตรวจหาเชื้อเอชไอวีในผู้สมัครงานและปฏิเสธรับเข้าทำงาน เพราะเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะมีข้อมูลวิชาการทางการแพทย์ยืนยันว่า ไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อเอชไอวี ผู้ติดเชื้อสามารถดำรงชีวิตและทำงานได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
และ 2.รพ.รับตรวจสุขภาพและตรวจหาเชื้อเอชไอวี แจ้งผลตรวจเอชไอวีไปยังบริษัทโดยตรง เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แม้ รพ.ชี้แจงว่าลงชื่อหนังสือยินยอม แต่เป็นเพียงหลักฐานแสดงความยินยอมตามแบบฟอร์ม ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นมาตรฐานทั่วไป ไม่ได้ให้คำปรึกษาและข้อมูลแก่ผู้เข้ารับการตรวจเอชไอวี เพื่อประกอบการตัดสินใจและให้ความยินยอมก่อนเจาะเลือด
ตามแนวทางปฏิบัติของแพทย์เกี่ยวกับเอชไอวีที่ประกาศโดยแพทยสภา ที่ต้องให้คำปรึกษาก่อนตรวจเป็นรายบุคคล ต้องแจ้งผลให้ผู้รับการตรวจทราบเป็นการส่วนตัว รักษาความลับไม่แจ้งให้ผู้อื่นทราบ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้รับการตรวจหรือตามกฎหมาย
นายจุมพล กล่าวต่อว่า ปัจจุบันยังปรากฏข้อร้องเรียน ทำให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและแนวปฏิบัติว่า ไม่สามารถบังคับใช้ต่อหน่วยงานเอกชนได้ กสม.มีข้อเสนอแนะต่อบริษัทและ รพ.เอกชนดังกล่าวในฐานะผู้ถูกร้อง ให้บริษัทยกเลิกการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในผู้สมัครงาน พนักงาน หรือลูกจ้าง เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาการจ้างงานหรือเลื่อนตำแหน่ง
และให้ รพ.เอกชนยกเลิกรายการตรวจเอชไอวีแก่ผู้สมัครงานหรือพนักงาน หากมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบการสมัครงานหรือพิจารณารับเข้าทำงาน ปฏิเสธการแจ้งผลตรวจ ให้ดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลตรวจสอบ
ทั้งนี้ ขอให้กรมควบคุมโรค กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และสมาคม รพ.เอกชน กำหนดนโยบายให้สถานพยาบาลของรัฐและเอกชนให้ความร่วมมือยุติปัญหาเอดส์ประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงแรงงาน รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องเอชไอวี/เอดส์ให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างว่า “ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีสามารถเรียนได้ ทำงานได้ อยู่ร่วมกันได้”
ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่กินยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง จะไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อให้ผู้อื่น โดย สธ.ควรบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ดำเนินการให้มีมาตรการเชิงลงโทษต่อสถานพยาบาลที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติ และกระทรวงยุติธรรมควรเร่งเสนอร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. … ต่อ ครม. ที่ครอบคลุมถึงหลักการไม่เลือกปฏิบัติ ด้วยเหตุแห่งการติดเชื้อเอชไอวีที่กระทบต่อสิทธิการทำงาน
ข่าวจาก : ข่าวสด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ