นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า กรมสรรพากรอยู่ระหว่างเร่งยกร่างกฎหมายที่จะนำ “ระบบการตรวจสอบภาษีมูลค่าเพิ่มแบบย้อนหลัง (reverse charge VAT)” มาใช้ให้เร็วที่สุด เพื่อแก้ปัญหา “ใบกำกับภาษีปลอม” โดยจะเริ่มที่ธุรกิจ “กิจการค้าของเก่าและรีไซเคิล” ก่อน เนื่องจากคดีใบกำกับภาษีปลอมที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่กว่า 50% มาจากธุรกิจนี้ โดยกรมตั้งใจว่าจะเริ่มใช้ระบบตรวจสอบย้อนหลังได้ตั้งแต่ต้นปี 2567
ทั้งนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ถือเป็นภาษีที่สำคัญ จัดเป็นแหล่งรายได้ที่ใหญ่ที่สุดของกรมสรรพากร โดยจัดเก็บได้ปีละกว่า 700,000 ล้านบาท ซึ่งหากแก้ปัญหาใบกำกับภาษีปลอมได้ ก็จะทำให้มีเม็ดเงินภาษีเพิ่มขึ้นอีกมาก
“ตอนนี้คุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องหมดแล้ว ภาคธุรกิจก็โอเค ซึ่งแนวทางก็คือ เราจะเก็บทอดสุดท้าย โดยให้ธุรกิจ โรงหลอมเหล็ก ที่เป็นทอดสุดท้ายเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีซื้อและภาษีขาย พร้อมกับหักภาษีนำส่งให้กรมสรรพากรทั้ง 2 ขา ก็จะได้ภาษีอย่างถูกต้อง ไม่รั่วไหล ช่วยลดปัญหาที่ต้องทุ่มกำลังเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบคดีใบกำกับภาษีปลอมลงได้มาก เพราะปกติคดีนี้เป็นคดีที่สรรพากรไม่ยอมความอยู่แล้ว ต้องดำเนินคดีไปถึงที่สุด” นายลวรณกล่าว
โดยที่ผ่านมา การเก็บ VAT แบบปกติ ในกรณีธุรกิจค้าของเก่าและรีไซเคิลนี้ “ค่อนข้างจะมีปัญหา ตรวจสอบยาก” เนื่องจากต้นทางจะเป็นกลุ่มผู้เก็บของเก่าหรือซาเล้ง ทำให้การไปบังคับให้ออกใบกำกับภาษีทำได้ลำบาก แต่ระบบภาษี VAT มีข้อกฎหมายที่เปิดทางให้สามารถทำกลับทางกันกับการเก็บ VAT ธุรกิจอื่นทั่วไปได้
อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาผู้ที่ประกอบธุรกิจที่ดีก็ต้องติดร่างแหไปด้วย เนื่องจากได้รับใบกำกับภาษีที่เป็นใบกำกับปลอมมาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเมื่อกรมสรรพากรตรวจสอบดำเนินคดีก็ต้องโดนไปด้วย ดังนั้นหากนำระบบนี้มาใช้ คนที่ทำดีอยู่แล้วก็ไม่เดือดร้อน ไม่ต้องติดร่างแหไปด้วย
“โรงหลอมเหล็ก ปัจจุบันมีอยู่ราว ๆ 100 โรงงาน ก็จะเป็นคนหักภาษีนำส่งให้กรมสรรพากร โดยขณะนี้กำลังเร่งออกพระราชกฤษฎีกาอยู่ ทำเร็วแน่นอน ซึ่งจะได้ภาษีเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่เป็นเท่าไหร่นั้น ยังไม่ได้ประเมินเป็นเม็ดเงิน” อธิบดีกรมสรรพากรกล่าว
อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวด้วยว่า นอกจากธุรกิจค้าของเก่าและรีไซเคิลแล้ว ในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ที่จะนำระบบ reverse charge VAT ไปใช้กับธุรกิจ “ขายรถยนต์มือสอง” ที่ปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องการเก็บ VAT อยู่เช่นกัน
อ่านเพิ่มเติมที่ : https://www.prachachat.net/finance/news-1358821
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ