2 กุมภาพันธ์ นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียน เมื่อเดือนมกราคม 2566 จากผู้ร้องรายหนึ่ง ระบุว่า ผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมใช้สิทธิเบิกค่ารักษาทันตกรรมที่จำเป็น ได้น้อยกว่าประชาชนทั่วไปในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) และระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ ไม่ครอบคลุมชนิดของบริการและค่าใช้จ่ายที่จำเป็น แตกต่างจากผู้มีสิทธิในอีกสองระบบที่สามารถเบิกได้ตามความจำเป็น ทั้งที่ผู้ประกันตนเป็นกลุ่มเดียวที่กฎหมายกำหนดให้ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือน
ในปี 2559 คณะกรรมการประกันสังคม (ผู้ถูกร้อง) ได้ออกประกาศกำหนดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเบิกค่าบริการทันตกรรมขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน และผ่าฟันคุด จำกัดในวงเงินเพียง 900 บาท ต่อคนต่อปี ซึ่งไม่เพียงพอต่อการรักษาทันตกรรมที่จำเป็น ส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมและเพิ่มความรุนแรงของโรคทันตกรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งที่พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนที่จะต้องได้รับบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างเท่าเทียมกัน และเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน จึงขอให้ตรวจสอบและมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การที่คณะกรรมการการแพทย์ โดยความเห็นชอบของผู้ถูกร้องได้ประกาศกำหนดให้ผู้ประกันตนเบิกค่าบริการทันตกรรมรวมกันทุกรายการได้ไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี ในขณะที่สถานพยาบาลเอกชนและคลินิกทันตกรรมส่วนใหญ่กำหนดอัตราค่าบริการทันตกรรมขั้นพื้นฐานเกินกว่า 900 บาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ประกันตนไม่สามารถเบิกได้ ส่งผลให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการทันตกรรมได้เพียง 1 – 2 รายการ และจำนวนหัตถการส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายเต็มวงเงิน 900 บาท อาทิ ขูดหินปูน 900 – 1,800 บาท อุดฟัน 800 – 1,500 บาท ถอนฟัน 900 – 2,000 บาท ผ่าฟันคุด 2,500 – 4,500 บาท ซึ่งถือว่าเป็นการกำหนดวงเงินที่ไม่เพียงพอต่อการรักษาทันตกรรมที่จำเป็นอย่างครบถ้วน ไม่สอดคล้องกับความมุ่งหมายเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์เรื่องการดูแลทันตสุขภาพของประชาชนของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และทันตแพทยสภา
นอกจากนี้ สิทธิในการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตน ยังไม่ครอบคลุมการรักษาทันตกรรมอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อสุขภาพอีกหลายประเภท เช่น ค่าใช้จ่ายในการเอกซเรย์ ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการป้องกันและรักษาสุขภาพช่องปากและฟันทั้งก่อนและหลังทำหัตถการ ซึ่งแตกต่างจากประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง และผู้มีสิทธิสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐที่สามารถเบิกค่าบริการทางการแพทย์ในกรณีดังกล่าวได้
กสม. เห็นว่า การที่คณะกรรมการประกันสังคม กำหนดสิทธิประโยชน์ด้านบริการทันตกรรมของผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ให้เบิกได้เฉพาะกรณีถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าฟันคุด รวมกันทุกรายการไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี เป็นการกำหนดวงเงินการเบิกค่าบริการทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอต่อความจำเป็นด้านสุขภาพช่องปากและฟัน ไม่ครอบคลุมชนิดของบริการทันตกรรมที่จำเป็นสำหรับผู้ประกันตนซึ่งเป็นประชากรกลุ่มวัยทำงาน จึงเป็นการละเมิดสิทธิในสุขภาพของผู้ประกันตนในการได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพและประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง จึงถือได้ว่าผู้ถูกร้องกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ประกันตน
อย่างไรก็ตาม กสม. มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า บริการทันตกรรมเป็นเพียงกรณีตัวอย่างของปัญหาความเหลื่อมล้ำในเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและระบบสาธารณสุขไทย ที่มีมายาวนาน เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมแก่ผู้ประกันตน หากพิจารณาในภาพรวมของประเทศจะพบว่า ประชาชนถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม โดยมี 3 ระบบกองทุนแยกจากกัน ภายใต้กฎหมายในเรื่องหลักประกันสุขภาพที่แตกต่างกัน ทำให้ประชาชนบางส่วนเข้าไม่ถึงสิทธิในสุขภาพที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกันตนซึ่งควรได้รับสิทธิไม่ต่ำกว่าสิทธิบัตรทอง
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 30 มกราคม จึงมีข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไปยังคณะกรรมการประกันสังคม (ผู้ถูกร้อง) และคณะกรรมการการแพทย์ ให้ปรับปรุงแก้ไขประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เรื่อง หลักเกณฑ์ และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน โดยยกเลิกการกำหนดเพดานค่าบริการทันตกรรมขั้นพื้นฐานในวงเงินไม่เกิน 900 บาท ต่อคนต่อปี และกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านบริการทันตกรรมให้ไม่ต่ำกว่าสิทธิบัตรทอง
นอกจากนี้ มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ให้คณะกรรมการประกันสังคม และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกันดำเนินการให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ ตามมาตรา 5 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ