กรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดสินเชื่อ 500 ล้าน จ่ายสมทบ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ช่วยชาวนา





มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 25 มิถุนายน 2567 ได้เห็นชอบโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว นํ้าปีการผลิต 2567/68 หรือ “ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง” วัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสามารถลดต้นทุนการผลิตจากการซื้อปุ๋ย โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง งบประมาณ 29,980.17 ล้านบาท ในโครงการนี้ “กรมส่งเสริมสหกรณ์”ได้รับมอบหมายให้จัดหาสหกรณ์การเกษตร เป็นจุดกระจายปุ๋ยและชีวภัณฑ์ ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับตั้งแต่เกษตรกรมีคำสั่งซื้อ

ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ถึงแผนงานการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของรัฐบาลในโครงการนี้

ลุยดึงสหกรณ์ช่วยกระจายปุ๋ย

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า โครงการปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง เป็นโครงการที่กรมการข้าว เป็นผู้ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต โดยสนับสนุนปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์ และชีวภัณฑ์ โดยที่ให้รัฐบาลออกเงินให้ครึ่งหนึ่ง ชาวนาออกอีกครึ่งหนึ่ง ใช้ปุ๋ยตามสูตรที่ทางกรมการข้าวกำหนด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการทำนาของเกษตรกรทั้งลดต้นทุนการผลิตและทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ เนื่องจาก “สหกรณ์การเกษตร” มีกลุ่มอุปกรณ์ทางการตลาด เช่น โกดัง ในการเก็บสินค้า เป็นต้น ซึ่งโดยปกติโกดังจะใช้เก็บข้าว แต่ตอนต้นฤดูยังไม่มีข้าว สามารถใช้เก็บปุ๋ยให้กับเกษตรกรได้

ขณะเดียวกันสหกรณ์การเกษตร ทำธุรกิจในเรื่องของการจัดหาปุ๋ยมาขายให้กับเกษตรกรอยู่แล้ว เมื่อกรมการข้าวเห็นตรง จึงได้มาขอความร่วมมือให้สหกรณ์การเกษตรเป็นจุดเก็บ และจ่ายปุ๋ยและชีวภัณฑ์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการที่อยู่ในรัศมีใกล้ ๆ ไม่ต้องเดินทางไกล ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมฯจะต้องกรอกข้อมูลในแอปพลิเคชันของ ธ.ก.ส. ว่าต้องการปุ๋ยสูตรใดบ้าง และต้องการรับปุ๋ยที่ไหน ช่วงเวลาใด

 

ปัจจุบันจากที่ได้เปิดรับสมัครสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 2-8 กรกฎาคม ที่ผ่าน มีสหกรณ์การเกษตรเข้าร่วม 309 แห่ง และกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วม 1 แห่ง เป็นจุดกระจายจำนวน 514 แห่ง ในพื้นที่ 61 จังหวัด จากเป้าหมาย 1,623 แห่ง ส่วนข้อมูลผู้ประกอบการที่จะขายปุ๋ยและชีวภัณฑ์ หน่วยงานที่เปิดรับสมัครคือกรมการข้าว จะทำหน้าที่หาบริษัทที่มีอยู่ในประเทศไทยผลิตปุ๋ยสูตรตามที่โครงการกำหนดให้สมัครเข้ามาร่วมโครงการ ได้มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้บริษัทมาขายปุ๋ยในโครงการ ในราคาขายที่คณะกรรมการตั้งขึ้นตามโครงการนี้เป็นผู้กำหนดขายปุ๋ยราคาเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อให้เกษตรกรได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพ และราคาที่เหมาะสม

เกษตรกรคนเลือก สูตร-ยี่ห้อปุ๋ย

สำหรับกระบวนการทำงานของสหกรณ์จะทำงานในรูปคณะกรรมการ โดยจะเป็นผู้ตัดสินใจว่า จะสั่งแบรนด์อะไร หากเป็นอำเภอเล็กๆ มีไม่กี่ตำบล ไม่กี่หมู่บ้าน ย่อมที่จะทราบข้อมูลพื้นฐานว่าเกษตรกรส่วนใหญ่จะชอบหรือใช้ปุ๋ยอะไรก่อนสั่ง เพราะในแอปพลิเคชันของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะระบุแค่สูตรปุ๋ย แต่ไม่ได้ระบุแบรนด์สินค้า ซึ่งส่วนราชการไม่สามารถไปบังคับได้ว่าสหกรณ์ต้องใช้ปุ๋ยอะไร ยี่ห้อไหน โดยหลักง่าย ๆ คือ ต้องตามใจผู้ซื้อ หากสหกรณ์ไม่สนใจ จะยืนยันเอายี่ห้อที่เกษตรกรไม่ต้องการ หากเกิดปัญหาร้องเรียนอาจเกิดปัญหาตามมาจะทำอย่างไร สรุปลูกค้าคือพระเจ้า

“เมื่อปุ๋ยสูตรเดียวกัน จะขายราคาเดียวกันทั่วประเทศ บริษัทก็ต้องแบกรับ ใครเคยขายแพง ค่าการตลาดสูง จะมาเข้าร่วมโครงการนี้ก็ต้องลดราคามาในระดับราคาที่คณะกรรมการกำหนด ขณะสหกรณ์การเกษตรเอง ก็มีความเสี่ยงสูง แม้บริษัทจะรับผิดชอบค่าขนส่ง ค่ายกขึ้นยกลงนำสินค้าเข้าโกดังสหกรณ์ แล้วจากโกดังสหกรณ์ ยกขึ้นรถให้เกษตรกรนำกลับไป ค่าใช้จ่ายบริษัทรับหมด แต่สหกรณ์รับแค่ค่าจ่ายสินค้าออกให้กับเกษตรกร ตันละ 95 บาท ถ้าปุ๋ยที่รับมาจ่ายพลาด ยกให้เกิน จากปุ๋ยที่จะได้ 10 ลูก เป็น 11 ลูก สหกรณ์ขาดทุนแล้ว 1 ลูก จากปกติสหกรณ์มีค่าบริหารจัดการตันละ 300-500 บาท แต่ก็ยินดีที่จะสนับสนุนนโยบายรัฐบาล”

จัด 500 ล้านช่วยชาวนาจ่ายสมทบ

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีเกษตรกรจำนวนน้อยมาก ที่จะมีเงินสดในมือเพื่อเตรียมซื้อปุ๋ยไว้ใช้เอง ในส่วนนี้ทางกรมฯเองได้มองเห็นปัญหา จึงได้สั่งการให้ทางเจ้าหน้าที่ให้นำเงินจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ช่วยสนับสนุนในโครงการนี้ประมาณ 300-500 ล้านบาท ดังนั้นหากสหกรณ์ใดต้องการวงเงิน ก็สามารถที่จะยื่นขอกู้ได้ เพราะมีความเข้าใจเวลานี้ เงิน 1หมื่นบาทสำหรับเกษตรกรเกษตรกรก็หายาก

ขณะที่โดยข้อเท็จจริงเกษตรกรก็ไปซื้อปุ๋ยเงินเชื่อจากผู้ค้า หรือไปกู้เงินจากนายทุนในหมู่บ้านอยู่แล้ว พอเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ก็นำข้าวเปลือกไปให้ เพื่อใช้คืนแทนเงิน หรือขายข้าวนำเงินมาจ่ายให้ทางร้านขายปุ๋ยหรือชีวภัณฑ์ ในเรื่องนี้หากสหกรณ์การเกษตรใดไม่มีเงินทุน และมีความประสงค์ก็สามารถแจ้งกับทางสหกรณ์จังหวัดได้เลย

“โครงการนี้หากในปีแรกมีเกษตรกรเข้าร่วม 1 ล้านราย ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว จากจำนวนชาวนา 4.6 ล้านครัวเรือน และหากเกษตรกรมีความเข้าใจและมีโครงการในปีต่อๆ ไปและเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็จะมีคนเข้าร่วมมากขึ้น ซึ่งผู้ค้าไม่ต้องตกใจว่าจะไปทำลายอุตสาหกรรมปุ๋ยที่มีมูลค่าแสนล้านบาท เพราะนี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของตลาดปุ๋ยเท่านั้น” นายวิศิษฐ์ กล่าว

 

ข่าวจาก : ฐานเศรษฐกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: