ผลสำรวจเผย “คนไทยแก่ก่อนรวย” วัยเกษียณไร้เงินเก็บ-วัยรุ่นรายได้น้อย ใช้ชีวิตติดหรู





ปัญหารายได้ของคนไทยยังเป็นเรื่องเปราะบาง โดยเฉพาะเมื่อถึงวัยเกษียณ บางกลุ่มอาจมีเงินเก็บไว้ดูแลตัวเองยามชรา แต่บางกลุ่มที่รายได้ไมีเพียงพอก็ต้องพึ่งพารายได้นอกครัวเรือน เรื่องนี้สะท้อนปัญหา “คนไทยแก่ก่อนรวย”

วันนี้ (18 ก.ค.67) ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า สังคมไทยกำลังเผชิญความไม่พร้อมหลังวัยเกษียณ สะท้อนจากข้อมูลครัวเรือนไทยส่วนใหญ่คนที่มีรายได้มากที่สุดในครัวเรือนมีอายุเกิน 50 ปี และรายได้ต่ำ (ราว 42% ของครัวเรือนไทย)

จึงต้องพึ่งพารายได้นอกครัวเรือน เช่น เงินช่วยเหลือภาครัฐ และรายได้ไม่เป็นตัวเงิน (หรือสิ่งของต่างๆ ที่ได้รับมา) ส่งผลให้กันชนทางการเงินต่ำ หากมีเหตุฉุกเฉินหรือมีรายได้ลดลง นับเป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ทั้งในด้านความเปราะบางของครัวเรือนและภาระการคลัง

ผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2023 ชี้ว่า ในระยะสั้นปัญหา “แก่ก่อนรวย” ของสังคมไทยยังน่าห่วง โดยพบว่ากลุ่มวัยทำงานใกล้เกษียณ (51-60 ปี) ส่วนใหญ่ยังมีสินทรัพย์น้อย โดยเฉพาะคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน มีความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายหลังเกษียณ

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการสะสมสินทรัพย์ของกลุ่มนี้ คือ ปัญหาภาระหนี้ โดย 56% ของครัวเรือนที่มีหนี้พบว่ามีสินทรัพย์รวมไม่ถึง 1 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนสูง

ขณะที่ในระยะยาวมองว่าปัญหาการออมนับเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อความพร้อมหลังเกษียณ ผลสำรวจพบว่า ในภาพรวม คนวัยทำงานที่สามารถออมเงินได้ทุกเดือน ยังมีไม่ถึงครึ่ง และอีกราว 1 ใน 4 ที่ไม่สามารถออมได้เลย โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะเหลือเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่สามารถออมได้สม่ำเสมอ

สาเหตุสำคัญมาจากปัญหาภาระรายจ่ายสูงแต่รายได้ต่ำ โดยเฉพาะวัยทำงานอายุ 31 – 50 ปี ที่มีปัญหาภาระหนี้มากกว่ากลุ่มอื่น เพราะได้เริ่มก่อหนี้ก้อนใหญ่เอาไว้จึงประเมินว่า พฤติกรรมการออมจะส่งผลอย่างมากต่อปัญหา “แก่ก่อนรวย” ของคนไทย โดยเฉพาะคนอายุมากและรายได้ต่ำ ซึ่งผลสำรวจพบว่ามีวินัยการออมน้อยที่สุด

ขณะที่คนรุ่นใหม่อายุต่ำกว่า 30 ปี พบว่าสามารถเริ่มออมสม่ำเสมอได้ตั้งแต่ช่วงรายได้ต่ำกว่ากลุ่มอื่น ๆ โดยกลุ่มนี้มีพฤติกรรมเก็บก่อนใช้ได้ตั้งแต่รายได้ 30,000 บาทต่อเดือน แต่ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน กลับพบว่ายังขาดวินัยการออม ส่วนหนึ่งเพราะใช้จ่ายตามกระแสสังคมมาก ซึ่งจะต่างจากคนอายุมากกว่าที่ส่วนใหญ่เริ่มมีพฤติกรรมเก็บก่อนใช้ตั้งแต่มีรายได้ 50,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป

ทั้งนี้ สำหรับผลสำรวจด้านการลงทุน พบว่าคนอายุน้อยที่มีเงินลงทุนมีสัดส่วนต่ำกว่าคนอายุมากกว่า และยังไม่ค่อยมีสินทรัพย์อื่นนอกจากเงินสดหรือเงินฝาก แม้ว่าคนรุ่นใหม่ดูจะสนใจและต้องการลงทุนมากกว่ากลุ่มคนอายุมากกว่า แต่ปัญหาขาดแคลนเงินลงทุนและความรู้ความเข้าใจในการลงทุนสินทรัพย์ทางการเงินยังเป็นอุปสรรคสำคัญของคนรุ่นใหม่

 

ข้อมูลจาก : อีจัน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: