ร้านอาหารเชื่อ “คนละครึ่ง” หมุนเงินดีกว่า “ดิจิทัลวอลเล็ต” หวั่นทุนจม





ข่าวช่องวัน เผยผู้ประกอบการร้านอาหารแห่งหนึ่งใน อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม กล่าวว่า ตอนนี้ยังรู้สึกลังเล ที่จะเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐ ว่าจะเข้าร่วมดีหรือไม่ เพราะตอนนี้ยังสับสนในข้อมูล มีความกังวลในหลาย ๆ ด้าน จากประสบการณ์ที่ผ่านมากับโครงการคนละครึ่งของรัฐบาลที่แล้ว พอมีโครงการใหม่ ๆ มาแรก ๆ จะบูมมาก สมมติว่ายอดขาย 100% จะเป็นเงินจากโครงการ 80-90% ทำให้สามารถคาดเดาได้ว่า ถ้าเงินดิจิทัลเข้ามาก็จะมีเม็ดเงินเยอะมากที่จะเข้ามา ซึ่งเงินที่จะเข้ามาตรงนี้ ในส่วนของทางร้าน เราจะเอาไปซื้อสินค้าได้อย่างไร จะไปซื้อของที่ตลาด ไปซื้อกับพ่อค้าแม่ค้า ตาสีตาสาได้ยังไง ร้านเล็ก ๆ คนแก่ ๆ จะเข้าร่วมโครงการหรือไม่

ยกตัวอย่างวัตถุดิบของร้านต้องซื้อ เช่น หอยนา ปูนา ผักพื้นบ้าน ร้านเล็กได้เข้าร่วมโครงการไหม ต้องใช้เงินดิจิทัลหรือใช้เงินสดซื้อ ซึ่งส่วนร้านใหญ่ เช่น ร้านขายหมู ขายเนื้อ ขายของทะเล เจ้าประจำของเรา ก็ไม่ทราบว่าได้เข้าร่วมโครงการไหม หากไม่เข้าร่วม พอใช้เงินสดซื้อ แล้วเงินที่อยู่ในระบบที่เราได้มา เราจะเอาไปใช้อย่างไร เพราะทางร้านเองก็ไม่มีเงินสดมาใช้หมุนเวียน

นอกจากการซื้อขายสินค้า เงินดิจิทัลตรงนี้ สามารถเอาไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าเช่าร้าน เติมน้ำมัน เติมแก๊ส สามารถเอาไปจ่ายได้หรือไม่ เพราะธุรกิจร้านอาหารที่ทำอยู่ ไม่ได้มีแค่วัตถุดิบ มันยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีก เงินที่ขายของได้แต่ละวันก็ต้องเอาเงินไปหมุนซื้อของเข้าร้าน และยังมีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอีก หากเงินดิจิทัลสะสมไปเรื่อย ๆ มันจะถึงจุดที่ว่าสภาพคล่องที่เป็นเงินสดไม่มี ซึ่งข้อมูลที่ออกมาตอนนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่านโยบายในการที่เอาเงินดิจิทัลออกมาไปแลกเป็นเงินสด ไปแลกได้ตอนไหน แล้วระหว่างนี้จะอยู่อย่างไร เราจะเอาเงินที่ไหนมาหมุน ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการที่จะเข้าร่วมโครงการ

หากเปรียบเทียบโครงการคนละครึ่งกับเงินดิจิทัลวอลเล็ต มองว่า เงินดิจิทัลคนละหมื่น เงินก็สะพัดคนละหมื่น แต่หากสมมติว่าเงินคนละครึ่ง หากได้เงินมาคนละหมื่น เงินก็จะสะพัดถึงสองหมื่น ใช้ครบตามจำนวนในวันนี้ วันพรุ่งนี้เงินก็เข้ามาใหม่ ประชาชนก็ไม่เดือดร้อน

ข่าวจาก : ข่าวช่องวัน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: