จ่อขยายอายุรับเงินชราภาพถึง 65 ปี เพิ่มสิทธิประโยชน์ ม.40





3 กันยายน สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จัดงานวันคล้ายวันสถาปนสำนักงานประกันสังคม ครบรอบ 34 ปี ที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จ.นนทบุรี โดยมี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการ สปส. พร้อมคณะผู้บริหาร ข้าราชการ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เข้าร่วม โดยในงานดังกล่าวได้มีการมอบรางวัลและโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่หน่วยงานในภาคีเครือข่าย สปส.กว่า 250 รางวัล

นายพิพัฒน์ กล่าวถึงนโยบายหรือทิศทางการขับเคลื่อนงานประกันสังคมในปี 2568 ว่า ในโอกาสสำนักงานประกันสังคม ครบรอบ 34 ปี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้หารือร่วมกับเลขาธิการ สปส. ถึงทิศทาการดำเนินงานของ สปส.ในระยะถัดไป โดยจะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน ตาม (ร่าง) พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … อาทิ

1.ขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตน มาตรา 33 จากเดิม 60 ปี เป็น 65 ปี แต่หลังจากที่ครบ 60 ปีแล้ว จะมาพิจารณาต่อว่าจะมีการค่อยๆ ขยับเพิ่มทีละปี จนถึงอายุ 65 ปีหรือไม่ ต้องดูอีกครั้งหนึ่งว่าเราจะสามารถเดินต่อไปได้หรือไม่ ถ้าไม่ไหว คิดว่าจนถึงอายุ 60 ปีเพียงพอแล้ว เราก็จะหยุดแค่อายุ 60 ปี

2.ผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือ มาตรา 39 ที่มีสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39/1 เพื่อได้รับสิทธิประโยชน์และส่งเงินสมทบใน 3 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และกรณีเสียชีวิต

3.กรณีออกจากงานแล้วให้การคุ้มครองสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรอีก 6 เดือน ขณะนี้ มีเงินสงเคราะห์บุตรตั้งแต่คลอดไปจนถึงอายุ 7 ปี จำนวน 800 บาทต่อเดือน แต่จะเพิ่มเป็น 1,000 บาทต่อเดือน

4.เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจากเดิมจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นเวลา 90 วัน เพิ่มเป็น 98 วัน หรือตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยต้อง กำหนดให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน

5.เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพเป็นร้อยละ 70 จากเดิม ร้อยละ 50

6.กรณีว่างงานให้ลูกจ้างที่มีอายุไม่เกิน 60 ปี มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงานจนเสร็จสิ้นก่อนแล้วจึงได้รับเงินกรณีชราภาพ

7.มาตรการ 3 ขอ ได้แก่ 1.ขอเลือก ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน เมื่ออายุครบ 55 ปี สามารถเลือกรับเป็นเงินบำนาญชราภาพ (เงินเลี้ยงชีพที่จ่ายให้เป็นรายเดือน) หรือเลือกรับเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ (เงินก้อนที่จ่ายให้ครั้งเดียว) 2.ขอคืน เมื่อ สปส.ประกาศพิบัติภัยอันส่งผลกระทบต่อ ความเป็นอยู่ของผู้ประกันตนอย่างร้ายแรง ผู้ประกันตนที่มีเงินสมทบกรณีชราภาพมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 60 เดือน สามารถขอรับเงินชราภาพบางส่วนได้ก่อนอายุครบ 55 ปี โดยเงินชราภาพที่ขอรับก่อนจะต้องไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินสมทบกรณีชราภาพและไม่เกิน 2 เท่าของจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานคำนวณค่าจ้าขั้นสูงของผู้ประกันตน (15,000 x 2 = 30,000 บาท) 3.ขอกู้ ผู้ประกันตนที่มีเงินสมทบกรณีชราภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 60 เดือน สามารถนำเงินชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินที่ทำความตกลงกับ สปส. โดยเงินชราภาพที่นำไปเป็นหลักประกันจะต้องไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินสมทบกรณีชราภาพและไม่เกิน 2 เท่าของจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานคำนวณค่าจ้างขั้นสูงของผู้ประกันตน

ผู้สื่อข่าวถามว่า สปส.เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ มาตรา 40 เรื่องใดบ้าง นายพิพัฒน์ กล่าวว่า 1.การปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ในกรณีทุพพลภาพ ทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 จากเดิมเดือนละ 500 – 1,000 บาท ปรับสูงสุด 2,000 บาท และทางเลือกที่ 3 จากเดิม เดือนละ 500 – 1,000 บาท ปรับสูงสุด 3,000 บาท คุ้มครองตลอดชีวิต 2.การปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร ทางเลือกที่ 3 จาก เดิมเดือนละ 200 บาทต่อบุตร 1 คน สูงสุดไม่เกิน 2 คน โดยบุตรมีอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ ปรับเพิ่มเป็น 300 บาทต่อบุตร 1 คน สูงสุดไม่เกิน 2 คน อายุไม่เกิน 7 ปีบริบูรณ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า 3.การปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เป็นเงินทดแทนการขาดรายได้ ประกอบด้วย 1.กรณีที่ไม่ได้พักรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลและไม่มีความเห็นของแพทย์ให้หยุดพักรักษาพยาบาล (ไป-กลับ) ทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 จากเดิมอัตรา ครั้งละ 50 บาท จำนวน 3 ครั้งต่อปี ปรับเป็นอัตราครั้งละ 200 บาท จำนวน 3 ครั้งต่อปี 2.กรณีแพทย์มีความเห็นให้หยุดพักรักษาพยาบาลตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป มี 3 ทางเลือก อาทิ ทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 เดิมรับอัตราวันละ 200 บาท ปีละไม่เกิน 30 วัน กรณีแพทย์มีความเห็นให้หยุดพักรักษาพยาบาลตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ปรับเพิ่มเป็นอัตราวันละ 200 บาท ปีละไม่เกิน 30 วัน กรณีแพทย์มีความเห็นให้หยุดพัก รักษาพยาบาลตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป ส่วนทางเลือกที่ 3 เดิมรับอัตราวันละ 200 บาท ปีละไม่เกิน 90 วัน กรณี แพทย์มีความเห็น ให้หยุดพักรักษาพยาบาลตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ปรับเพิ่มเป็นอัตราวันละ 200 บาท ปีละไม่เกิน 90 วัน ปรับเป็นให้หยุดพักรักษาพยาบาลตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป

“ทั้งนี้ คณะกรรมการประกันสังคมให้ความเห็นชอบในแล้ว เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ขณะนี้อยู่ระหว่างร่างกฎหมายและเสนอตามขั้นตอนต่อไป หลังจากนี้จะมีการหารือในที่ประชุมว่าจะมีอะไรเพิ่มเติม ซึ่งมั่นใจว่าจะมีการพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลและการติดตาม แต่สำคัญที่สุดคือ การให้บริการที่รวดเร็ว” นายพิพัฒน์ กล่าว

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: