5 กันยายน นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(เงินเฟ้อทั่วไป)ของไทย เดือนสิงหาคม 2567 เท่ากับ 108.79 เทียบกับเดือนสิงหาคม 2566 สูงขึ้น 0.35 % และสูงขึ้น 0.07% จากเดือนกรกฎาคม 2567 ปัจจัยสำคัญส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อมาสูงขึ้นมาจากราคาสินค้ากลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักสดและผลไม้สด ที่บางพื้นที่เพาะปลูกเจอฝนตกหนักและอุทกภัย ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง รวมถึงข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และอาหารสำเร็จรูป อาทิ กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง และอาหารตามสั่ง ราคาปรับสูงขึ้นเช่นกัน
ขณะที่สินค้ากลุ่มพลังงาน (แก๊สโซฮอล์ ค่ากระแสไฟฟ้า)ราคาลดลง ส่วนราคาสินค้าและบริการอื่น ๆส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มาก ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่ใช้ในการคำนวณเงินเฟ้อ 430 รายการ ในส่วนนี้ 175 รายการราคาสูงขึ้น อีก 158 รายการราคาไม่เปลี่ยนแปลง ส่วน 97 รายการราคาลดลง โดยหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 1.83% และหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.68%
สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้น 0.62 % สูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนกรกฎาคม 2567 ที่สูง 0.52 % จึงส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 8 เดือนปี 2567 สูงขึ้น 0.15 % และเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้น 0.44% ซึ่งหากเทียบกับประเทศทั่วโลก ไทยมีเงินเฟ้อต่ำสุดอันดับ 10 จาก 128 ประเทศ และอันดับ 2 ในอาเซียน
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า เงินเฟ้อทั่วไปเดือนกันยายน 2567 มีแนวโน้มสูงขึ้น ปัจจัยหลักจาก 1.ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 30 บาทต่อลิตร 2.ผลกระทบจากอุทกภัยทำให้ราคาผักสดและผลไม้สดปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากแหล่งเพาะปลูกในบางพื้นที่ได้รับความเสียหาย แต่คาดว่าจะเป็นผลกระทบระยะสั้น และ 3. สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะส่งผลกระทบให้เกิดความไม่แน่นอนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญ รวมถึงต้นทุนค่าขนส่งทางเรือปรับตัวเพิ่มขึ้น
ขณะที่ปัจจัยทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวลง คือ 1. ค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้าตามมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ 2. ฐานราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกในปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับสูง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบดูไบในปัจจุบันมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ หรืออาจจะลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะขยายตัวระดับต่ำ และ 3.การลดราคาสินค้าและการแข่งขันในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกในประเทศ และการค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ ทำให้สินค้าจำนวนมากปรับลดราคาอย่างต่อเนื่อง ส่วนมาตรการแจกเงินสดให้กับกลุ่มเปราะบาง คาดว่าจะได้ในเดือนกันยายน นั้น เป็นการเพิ่มกำลังซื้อ ไม่ได้ส่งผลต่อต้นทุนสินค้าและการปรับราคาสินค้า
“เงินเฟ้อไตรมาสสุดท้ายปีนี้ มีแนวโน้มสูง คาดอัตราเฉลี่ยสูงขึ้น 1.5% ปัจจัยหลักคือจากราคาดีเซล แต่เฉลี่ยทั้งปีกระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ระหว่าง 0.0 – 1.0 % โดยค่ากลางอยู่ที่ 0.5 % สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน” นายพูนพงษ์ กล่าว
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ