ปธ.คปค. หนุน ขยายฐานอายุผู้ประกันตนเป็น 65 ปี





7 กันยายน นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เตรียมจะดำเนินการการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตน ตาม (ร่าง) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … กรณีขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิม 60 ปี เป็น 65 ปี ว่า เรื่องนี้มีความเป็นไปได้สูง ด้วยประเทศไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น จึงต้องขยายการเกษียณอายุเพื่อรองรับ ตนมองว่าเป็นสิ่งที่ดี เช่นเดียวกับผู้ประกันตน มาตรา 40 ที่ให้สิทธิคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ของผู้สูงวัย อายุระหว่าง 60 – 65 ปี

“ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. อายุเมื่อครบ 60 ปี ปีที่ 61 อาจจะสมัครงานที่อื่นได้ เช่น เป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เป็นลูกจ้างก่อสร้างทั้งหลายที่มีนายจ้าง นาย ก. ก็สามารถกลับเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 33 ได้เหมือนเดิม” นายมนัส กล่าว และว่า การขยายฐานอายุผู้ประกันตนตามมาตรา 33 นั้น มองว่ามีแต่ผลดี เนื่องจากระบบประกันสังคมมาตรา 33 มีการดูแลที่ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นกรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีชราภาพ ตลอดจนกรณีเสียชีวิต สงเคราะห์บุตร และผู้ที่ว่างงาน ดูแลทั้งหมด

นายมนัส กล่าวต่อว่า ส่วนความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าเมื่อขยายฐานอายุผู้ประกันตนเป็น 65 ปีแล้วทำให้ต้องรอรับบำนาญที่ 65 ปีนั้น ยืนยันว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะผู้ประกันตนยังสามารถรับเงินชราภาพได้เมื่ออายุ 55 ปี ตามเดิม คือ สปส.จะจ่ายเงินบำนาญชราภาพตลอดชีพให้แก่ผู้ประกันตนเมื่ออายุครบ 55 ปี คือ 1.กรณีผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนตลอดชีวิต ในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย 2.กรณีผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน จะได้รับเงินบำนาญชราภาพในอัตราร้อยละ 20 และปรับเพิ่มขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน

นายมนัส กล่าวว่า ส่วนกรณีที่นักวิชาการหลายคนห่วงว่า อีก 30 ปีข้างหน้า ประกันสังคมจะเสี่ยงล่มสลายนั้น ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีเงินหมุนเวียนอยู่ในกองทุนราว 2.5 ล้านล้านบาท ตอนนี้สภาพคล่องยังดีอยู่ เชื่อว่าไม่ถึงขั้นนั้น แต่ต้องติดตามต่อไป เรารู้สัญญาณและวิธีที่จะทำให้กองทุนประกันสังคมของเราอยู่ได้ในประเทศไทยอย่างไร เราต้องช่วยกัน เช่น นายจ้างและลูกจ้างอย่าค้างจ่ายเงินสมทบ และรัฐบาลก็ต้องจ่ายเงินสมทบเท่ากับลูกจ้างและนายจ้างด้วย ขณะที่ กองทุนต้องมีแผนการสร้างรายได้เข้ากองทุน ด้วยการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คณะกรรมการประกันสังคม ได้มีมติเพิ่มอาชีพอิสระ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพเกษตรกร คนสวน แม่บ้านดูแลบ้าน ให้เข้าสู่ระบบประกันสังคม ซึ่งรอส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพิจารณาเห็นชอบ เพื่อเสนอเข้าคณะรัฐมตรี (ครม.) ต่อไป

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: