จากการแพร่ระบาดของโรคไอกรนในประเทศเกาหลีใต้ ส่งผลให้มีเด็กทารกติดเชื้อกว่า 3 หมื่นราย และมีรายงานว่าพบเด็กทารกเสียชีวิต 1 ราย แม้อาจจะฟังดูไกลตัว แต่พ่อแม่ก็ไม่ควรมองข้ามและควรรับมือป้องกันก่อนสายเกินไป
โรคไอกรน เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกวัย แต่จะมีความรุนแรงหากเกิดในวัยเด็กและค่อนข้างอันตราย อีกทั้งยังมีอาการคล้ายกับโรคหวัดทั่วไป ทำให้พ่อแม่หลายรายที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจไม่ทันได้ระวังภาวะของโรคดังกล่าว
สาเหตุของโรคไอกรน
โรคไอกรน เป็นโรคทางเดินหายใจที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งชื่อว่า Bordetella pertussis (B. pertussis) เป็นโรคที่ปัจจุบันพบน้อยเพราะมีวัคซีนป้องกันโรค ทำให้ผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวมีจำนวนไม่มากนัก สามารถเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สถานการณ์โรคไอกรนในประเทศไทยจากสถิติปี 2560 ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา พบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคไอกรนทั้งหมด 76 ราย คิดเป็น 0.1 รายต่อประชากร 1 แสนราย และประมาณ 50% ของผู้ป่วยเป็นเด็กเล็กอายุ 1-3 เดือน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นตัวเลขดังกล่าวยังไม่มีความแม่นยำเท่าที่ควร เนื่องจากตัวโรคมีการวินิจฉัยค่อนข้างยาก
อาการโรคไอกรน
หากเกิดในผู้ใหญ่ไม่มีความรุนแรง สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่มีอาการเหนื่อยหอบ ไม่มีไข้ มีเพียงอาการไอเท่านั้น แต่ถ้าหากเกิดกับเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 3 ขวบ จะมีความน่ากังวลสูงเพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ที่พบบ่อยคือไอหนักจนตัวเขียวหรือไอจนหยุดหายใจ ทำให้สมองขาดออกซิเจน และอาจเสียชีวิตได้ ส่วนอาการชักสามารถพบได้เช่นกันแต่พบไม่บ่อยนัก
1. อาการไอกรนระยะแรก จะเป็นช่วงที่แยกโรคได้ยาก เพราะอาการที่แสดงออกนั้นคล้ายคลึงกับไข้หวัดธรรมดา ซึ่งมีอาการเริ่มต้นดังนี้
- อาการไอ
- น้ำมูกเล็กน้อย
- อาจมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้เลยก็ได้
จากนั้นอาการไอจะเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะมีอาการอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ และมักเป็นอาการไอแบบแห้งๆ ซึ่งในระยะนี้เป็นระยะที่แพร่เชื้อได้มากที่สุด
2. อาการไอกรนระยะรุนแรง เป็นระยะที่อาการไอกรนเด่นชัดที่สุดและสามารถเป็นนาน 2-4 สัปดาห์ โดยมีอาการดังนี้
- ไอซ้อนๆ ไอถี่ๆ ติดกันเป็นชุด สลับกับการหายใจเข้าอย่างรุนแรงจนเกิดเสียงวู๊ปๆ
- บางคนไอจนตาแดง น้ำมูก น้ำตาไหล ตาถลน ลิ้นจุกปาก เส้นเลือดคอโป่งพอง หรืออาเจียนได้ เพื่อขับเสมหะที่เหนียวข้นออกมา
ในเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน อาจมีอาการหน้าเขียว ตัวเขียว จากการหยุดหายใจ หรือจากเสมหะอุดตันทางเดินหายใจ
3. อาการไอกรนระยะฟื้นตัว เป็นระยะที่ความรุนแรงของอาการทั้งหมดลดลง แต่จะยังคงมีอาการไอติดต่อกันต่อเนื่องไปอีก 2-3 สัปดาห์ และถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนอะไรเพิ่มเติมก็จะหายจากโรคได้ใน 6-10 สัปดาห์
อาการที่ควรระวัง
- ปอดแฟบ อาการที่เกิดจากเสมหะที่เหนียวข้นไปอุดตันหลอดลมและถุงลม
- ปอดอักเสบ อาการแทรกซ้อนสำคัญที่ทำให้เสี่ยงต่อชีวิตในเด็ก
- อาการชัก จากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
การรักษาโรคไอกรน
สำหรับการรักษาโรคไอกรน ในระยะแรกจะเป็นการให้ยาปฏิชีวนะเป็นระยะเวลา 14 วัน ในระยะนี้จะช่วยให้ความรุนแรงของโรคลดลงได้ แต่ถ้าผู้ป่วยอยู่ในระยะรุนแรงที่มีการไอเป็นชุดๆ แล้วการให้ยาจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความรุนแรงของโรคได้ แต่จะสามารถฆ่าเชื้อโรคที่อาจจะยังมีอยู่ให้หมดไปได้ในระยะ 3-4 วัน เป็นการลดการแพร่กระจายของเชื้อได้
รวมทั้งการรักษาตามอาการให้เด็กได้พักผ่อน ดื่มน้ำอุ่น อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี หลีกเลี่ยงสาเหตุที่จะทำให้เด็กไอมากขึ้น เช่น การออกแรง ฝุ่นละออง ควันไฟ ควันบุหรี่ อากาศที่ร้อนหรือเย็นจัดเกินไป
การป้องกันโรคไอกรน
การเกิดไอกรนในวัยเด็กมักเกิดจากการได้รับวัคซีนป้องกันที่ยังไม่ครบหรือบางรายอาจยังไม่เคยได้รับวัคซีนเลย ทำให้เด็กยังขาดภูมิคุ้มกัน เนื่องจากวัคซีนป้องกันไอกรนเข็มแรกจะได้รับเมื่ออายุ 2 เดือน
ในเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี การได้รับวัคซีนป้องกันไอกรน 4-5 ครั้ง นับเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคไอกรน โดยกำหนดการให้วัคซีนเริ่มเมื่ออายุ 2 เดือน และให้อีก 2 ครั้ง ระยะห่างกัน 2 เดือนคือ ให้เมื่ออายุ 4 และ 6 เดือน โด๊สที่ 4 ให้เมื่ออายุ 18 เดือน นับเป็นครบชุดแรก (Primary immunization) โด๊สที่ 5 ถือเป็นการกระตุ้น (booster dose) ให้เมื่ออายุ 4 ปี เด็กที่มีอายุเกิน 7 ปี แล้วจะไม่ให้วัคซีนไอกรน เนื่องจากพบผลข้างเคียงได้สูง
การรับเชื้อส่วนมากมักมีการรับมาจากผู้ใหญ่ที่ป่วยและมีอาการไอ ซึ่งในวัยผู้ใหญ่มักไม่ยอมไปพบแพทย์ เนื่องจากอาการไม่รุนแรง ทำให้เกิดการแพร่เชื้อไปยังเด็กที่อยู่ใกล้ชิดในที่สุด
ข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลวิมุต
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ