ทุเรียนชนิดนี้ มีถิ่นกำเนิดจาก ประเทศอินโดนีเซีย ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ในประเทศไทยนานหลายปีแล้ว โดยมีลักษณะเด่นประจำพันธุ์คือ ลำต้นใหญ่แข็งแรง ทนต่อโรคสูง ใบมีขนาดใหญ่กว่าใบของทุเรียนพันธุ์ไทยทั่วไป รูปทรงของผลสวย ไม่ใหญ่โตนัก มีน้ำหนักเมื่อผลโตเต็มที่เฉลี่ยระหว่าง 2 กิโลกรัมต่อผลเท่านั้น ที่ถือว่าเป็นพิเศษได้แก่ เนื้อในสุกจะเป็นสีแดงเข้ม แตกต่างจากเนื้อทุเรียนของไทยที่พบเห็นจนชินตาเป็นสีเหลืองอย่างชัดเจน เนื้อสุกละเอียดเหนียว เมล็ดเล็ก รสชาติหวานหอมรับประทานอร่อยมาก ผู้นำเข้า จึงตั้งชื่อตามสีของเนื้อสุกและถิ่นกำเนิดเป็นภาษาไทยว่า “ทุเรียนแดงอินโดฯ” ดังกล่าว
ทุเรียนแดงอินโดฯ อยู่ในวงศ์ MALVACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกับทุเรียนทั่วไปทุกอย่าง จะมีข้อแตกต่างที่ใบจะมีขนาดใหญ่กว่า และเนื้อในสุกเป็นสีแดงเท่านั้น ในประเทศอินโดนีเซียมีชื่อเรียกอีกว่า “ทุเรียนสีรุ้ง” มีหลายสายพันธุ์ มีแหล่งปลูกในหลายเมืองหรือหลายจังหวัดในประเทศอินโดนีเซีย เช่น พันธุ์เมร่อน จากบันยุวังกี, พันธุ์บูลันกัน จากกาลิมันตัน, พันธุ์วายุท, พันธุ์เซ็กซี่พิงค์ เป็นต้น แต่ละพันธุ์จะมีสีของเนื้อในไม่เหมือนกัน อย่างเปลือกผลสีเขียวเนื้อในเป็นสีแดง, เปลือกผลสีเหลืองเนื้อสีส้ม และเปลือกผลสีแดงเนื้อเป็นสีเหลืองก็มี เนื้อสุกรสชาติหวานหอมเหมือนกับทุเรียนไทยทุกอย่าง แต่มีบางพันธุ์มีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นคาราเมลและกลิ่นอัลมอนด์คั่ว ชาวอินโดนีเซียนิยมรับประทานมาก ติดผลดก 600 ผลต่อต้นตามฤดูกาลหรือติดผลได้ปีละ 2 ครั้ง
ข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ