21 มีนาคม นางประพันธ์ศิริ สุเสารัจ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) เปิดเผยกรณีที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่มีนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งครูผู้ช่วย และแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งจะใช้สำหรับสอบแข่งขันเพื่อบรรจุแต่งตั้งครูผู้ช่วยทั่วไป ครั้งที่ 1/2560 กำหนดให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือใบอนุญาตปฏิบัติการสอน ที่คุรุสภาออกให้ สามารถสมัครสอบแข่งขัน จากเดิมที่ต้องมีใบอนุญาตฯ จึงจะสมัครได้ เพราะอยากได้คนเก่งมาเป็นครู ว่า มติดังกล่าวกระทบต่อศักดิ์ศรีวิชาชีพครูอย่างมาก การเรียนครูประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ส่วนหลัก คือ เนื้อหาความรู้ วิธีการสอน เทคนิคการถ่ายทอดจิตวิทยาการถ่ายทอดองค์ความรู้ การประเมินผล และส่วนสำคัญที่สุดคือ จิตวิญญาณความเป็นครู
นางประพันธ์ศิริกล่าวว่า ดังนั้น การที่ ก.ค.ศ.ออกมติมาเช่นนี้ เท่ากับว่า ศธ.เลือกคนมาเป็นครูจากเนื้อหาที่เรียนอย่างเดียว โดยไม่สนใจจิตวิญญาณ และเทคนิคในการถ่ายทอด ทำให้ผู้ที่เรียนครู 5 ปีเสียสิทธิ โดนผู้ที่เรียน 4 ปีจากคณะ/สาขาวิชาอื่น มาปาดหน้าสอบเป็นครู ทั้งที่พวกเขามีความตั้งใจ และเรียนถึง 5 ปี ฝึกปฏิบัติการสอน อีก 1 ปี ก่อนจะได้ใบอนุญาตฯ และมาสอบเป็นครูผู้ช่วย ทำให้ผู้ที่เรียนครูเริ่มไม่พอใจ และกำลังจะก่อหวอด เพราะเขารู้สึกว่าเสียเปรียบ อีกทั้ง ยังกระทบกับศักดิ์ศรีวิชาชีพอย่างมาก อีกทั้ง หาก ศธ.เปิดกว้างให้ผู้ที่จบจากสาขาอื่นมาเป็นครูได้ สุดท้ายจะไม่มีคนมาเรียนครู เพราะเรียนอะไรก็เป็นครูได้ และต่อไปต้องปรับหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ให้เหลือ 4 ปี รวมถึง ปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย
ข่าวจาก : มติชนออนไลน์ วันที่: 21 มี.ค. 60 เวลา: 17:25 น.
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ