เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ว่า กระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือถึงทช. เรื่องการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ 13 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ระนอง ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม นนทบุรี ระยอง สมุทรสาคร เชียงใหม่ สงขลา ภูเก็ต ตาก สุราษฎร์ธานีและชลบุรี โดยขอใช้พื้นที่ป่าชายเลนเป็นการเฉพาะเพื่อสร้างอาคารชุดใน จ.ระนอง ซึ่งมีแรงงานต่างด้าว รวม 64,212 คน แบ่งเป็นได้รับการพิสูจน์สัญชาติและนำเข้าตามข้อตกลงระหว่างประเทศไทยกับพม่า จำนวน 39,850 คน และได้รับการผ่อนผัน จำนวน 24,036 คน ส่วนใหญ่มีที่พักอาศัยตามสลัมหรือที่พักที่นายจ้างจัดให้ โดย จ.ระนองได้กำหนดพื้นที่อยู่อาศัยหรือจัดโซนนิ่ง ไว้ 2 แห่ง คือ บริเวณหลังป้อมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หมู่ที่ 5 (ซอยหลังโรงเจ) พื้นที่ป่าชายเลน ต.บางริ้น อ.เมือง จำนวน 120 ไร่ และที่บริเวณบริเวณบ้านปากคลอง หมู่ที่ 1 (ซอยแพแหวนทอง) ต.ปากน้ำ อ.เมือง อีกประมาณ 73 ไร่ และขอให้ทช. เพิกถอนสภาพป่าชายเลนทั้ง 2 พื้นที่และมอบให้เป็นพื้นที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ เพื่อให้เอกชนมาลงทุนทำโครงการในรูปแบบวิลล่า แบ่งเรือนที่พักเป็นโซน ห้องละ 4 คน มีการดูแลรักษาความปลอดภัย พื้นที่พักผ่อน สนามกีฬา ร้านซุปเปอร์มาเก็ต เป็นต้น รวมทั้งขอยกเว้นกฎหมายผังเมือง เนื่องจากเป็นพื้นที่สีเขียวพร้อมทั้งระบุด้วยว่า หากได้รับอนุมัติโครงการจะแล้วเสร็จภายใน 10 เดือน
น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดีทช. กล่าวว่า เรื่องทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนการนำเสนอ และปรึกษาหารือสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ยัง ไม่เข้าสู่กระบวนการที่เป็นทางการ นั่นคือ นำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อผ่อนผันให้สามารถเข้าไปใช้พื้นที่ป่าชายเลนได้ โดยขั้นตอนขอเพิกถอนป่าชายเลน ต้องไปชี้หรือพิจารณาพื้นที่ก่อนว่าจะใช้พื้นที่ตรงไหนบริเวณใด จากนั้น นำเสนอ ครม.เพื่อขอเพิกถอน และเมื่อได้รับการผ่อนผัน ก็จะต้องนำเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาการใช้พื้นที่ป่าชายเลน คงต้องใช้เวลาอีกระยะ เพราะต้องผ่านขั้นตอนอีกหลายขั้นตอนด้วยกัน
เมื่อถามว่าในฐานะหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ป่าชายเลนแล้ว มีความเหมาะสมที่จะเอาพื้นที่ป่าชายเลนไปสร้างสถานที่ลักษณะดังกล่าวหรือไม่ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลฯ กล่าวว่า สภาพพื้นที่ป่าชายเลนในบริเวณที่ขอเพิกถอน ขณนี้ ไม่มีสภาพของความเป็นป่าชายเลนแล้ว น้ำทะเลก็เข้าไม่ถึงมานานแล้ว อีกทั้งมีประชาชนจำนวนหนึ่งเข้าไปบุกรุกสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย อีกด้วย คือเปลี่ยนสภาพจากป่าชายเลนเดิมไปหมดแล้ว การพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตนั้น หลักการสำคัญคือ ต้องมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ และสังคมเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า พื้นที่จะเป็นป่าชายเลนที่ค่อนข้างเสื่อมโทรม แต่หาก ครม.อนุมัติ ให้มีการเพิกถอนให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวได้จริง ครม.เองจะต้องจัดงบประมาณเพื่อชดเชย ให้มีการปลูกป่าชายเลน เป็นจำนวน 20 เท่าของพื้นที่เดิม หรือไม่ต่ำกว่า 4,000 ไร่ ด้วย ซึ่งขณะนี้ ยังไม่มีเรื่องใดๆ แจ้งมายังกรมฯ อย่างเป็นทางการ เป็นเพียงผลการประชุมและนำเสนอโครงการของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น
ด้าน นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดทส. กล่าวว่า ยังไม่เห็นรายละเอียดเรื่องทั้งหมด แต่หลักการของการขอใช้พื้นที่ป่าชายเลน เพื่อประโยชน์ชุมชนนั้น พื้นที่ต้องเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม ต้องให้กับผู้ยากไร้ ซึ่งปกติแล้วก็มีคณะกรรมการที่จะทำหน้าที่เพิกถอนพื้นที่ป่าชายเลนพิจารณา อยู่แล้ว แต่เข้าใจว่า หากพื้นที่ไม่ใช่ที่เสื่อมโทรม หรือจัดไว้ให้ผู้ยากไร้ ไม่น่าจะเข้าข่ายการอนุญาตให้เพิกถอนได้
ขณะที่นายประยุทธ เสี้ยวยิ้ม ผอ.ส่วนใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้ กรมป่าไม้ กล่าวว่า การขอใช้ป่าชายเลน แม้จะอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนฯ แต่กรณีดังกล่าวสามารถขอใช้ประโยชน์โดยตรงที่กรมทรัพยากรทางทะเลฯ ได้เลย เพราะมีการแบ่งงานอำนาจรับผิดชอบกันแล้ว แต่ถ้าขอใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนฯ ต้องมาขอที่กรมป่าไม้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพื้นที่ป่าชายเลน ที่กระทรวงมหาดไทยขอให้มีการเพิกถอนสภาพอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองหัวเขียวและป่าเกาะสุย ท้องที่ ม.5 ต.บางริ้น อ.เมือง จ.ระนอง ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวมีคดีบุกรุกพื้นที่ติดอยู่ 4 คดี มีผู้ต้องหา 7 คน โดยศาลตัดสินแล้ว 2 คดีและอีก 2 คดีอยู่ในชั้นอัยการ
น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ตนไม่ทราบรายละเอียดเรื่องนี้ แต่หากเป็นไปตามข่าวจริง ก็ต้องย้อนถามกลับว่า การสร้างบ้านพักให้แรงงานต่างด้าวนั้น ทำได้ก็จริง แต่ต้องถามกลับว่า รัฐบาลดูแลแรงงานนอกระบบดีแล้วหรือยัง เพราะที่ผ่านมาเห็นชัดเจนว่าประกันสังคมดูแลแรงงานต่างด้าวดีกว่าแรงงานนอกระบบเสียอีก กว่าจะมีมาตรการดูแลอะไร ก็ต้องออกมาเรียกร้องกันยกใหญ่ ดังนั้น หากจะสร้างบ้านให้แรงงานต่างด้าว ขอให้ออกมาชี้แจงประเด็นและแจงรายละเอียดมากกว่านี้
รศ.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร นักกฏหมายด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า หากรัฐบาลมีเจตนาที่จะสร้างที่อยู่อาศัยให้กับแรงงานต่างด้าว เพื่อให้คนเหล่านั้น ตามสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เท่าที่ควรจะได้รับก็เป็นเรื่องที่ควรทำ แต่ไม่ใช่สร้างมาเพื่อการควบคุมกักขัง นอกจากนี้ ทุกคนก็มีบทเรียนร่วมกันแล้วว่า การปล่อยให้เกิดชุมชนในพื้นที่ใกล้น้ำ และเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งในประเทศไทยก็เหลือน้อยอยู่แล้ว บริเวณดังกล่าวมักจะกลายเป็นแ หล่งเสื่อมโทรมตามมาทันทีหากไม่มีการดูแลให้ดี
ข่าวจาก : มติชนออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ