อ่านไว้ไม่เสียรู้!! พกปืนอย่างไรให้ถูกกฎหมาย ไม่ถูกจับ-ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน!! (กฎหมายฉบับ ปชช.ทั่วไป-จนท.)





 

"ปืน" อาวุธชนิดนี้ไม่ใช่ว่าใครก็สามารถมีได้ มันไม่ได้หาซื้อง่ายตามตลาดทั่วไป ไม่สามารถที่จะพกเพื่อนำติดตัวไปไหนมาไหนได้ง่ายๆ เหมือนอย่างโทรศัพท์  แต่อาวุธชนิดนี้เป็นสิ่งอันตรายซึ่งผู้ที่ต้องการจะพกพา หรือหาซื้อต้องมีหความจำเป็นหรือเหตุอันควรเท่านั้น บางคนนำไปใช้ในทางที่ผิด บางคนก็มีไว้เพื่อป้องกันตัว

หลายคนไม่ทราบว่าการได้มาซึ่งอาวุธปืนอย่างไม่ถูกต้องนั้นจะส่งผลให้ติดคุกติดตารางกันได้ง่ายๆ ในกระทู้นี้ Thaijobsgovจึงขอหยิบเอาประเด็นนี้มานำเสนอให้ทุกคนได้รับทราบกันเกี่ยวกับข้อกฏหมายที่ควรรู้เกี่ยวกับปืน ซึ่งส่วนราชการ กรมตำรวจ ได้ออกหนังสือเรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจค้นบุคคลพกพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะสถาน โดยได้ระบุข้อความเอาไว้ ดังนี้

 

ส่วนราชการ กรมตำรวจ โทร. 2511087
ที่ 0503(ส) / 27663 วันที่ 30 กันยายน 2525
เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจค้นบุคคลพกพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะสถาน
——————————————————————————–

ผบช. , ผบก. , หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าทุกหน่วยงาน

ตามบันทึก ตร.ที่ 0501/30476 ลง วันที่ 11 ธันวาคม 2517 กำหนดแนวทางในการปฏิบัติของข้าราชการ ตำรวจ ให้ใช้ดุลพินิจในการตรวจค้น จับกุม ผู้พกพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะสถานให้เป็นการถูกต้องตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 371 ได้บัญญัติไว้ ต่อมาได้มีคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลง วันที่ 21 ตุลาคม 2519 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 8 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 ขึ้นอีก ในทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในปัจจุบันยังคงมีปัญหา เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจค้นพบบุคคลพกพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะ โดยมีเพียงใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้พกพาอาวุธปืนติดตัว ก็มักจะควบคุมตัวมาดำเนินคดีทุกรายไป ทำให้เป็นที่เดือดร้อนแก่ผู้บริสุทธิ์ที่ ถูกตรวจค้นและจับกุม เพื่อให้การปฏิบัติของเจ้าพนักงานตำรวจเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและถูกต้อง จึงขอซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติเพิ่มเติม ดังนี้

ตามบทบัญญัติ มาตรา 8 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลง วันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3 กำหนดว่า ห้ามมิให้ผู้ใดพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เว้นแต่กรณีต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์

ไม่ว่ากรณีใด ห้ามมิให้พาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผยหรือไปในที่ชุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อ นมัสการ การรื่นเริง การมหรสพหรือการอื่นใด

ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากฎหมายยังคงเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์นำอาวุธปืนที่ตนมีไว้โดยชอบด้วยกฎหมายแต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้พกพานำติดตัวไปเพื่อป้องกันตัวและทรัพย์สินได้ภายในขอบเขตที่กฎหมายให้กระทำได้ ตามแนวคำชี้ขาดไม่ฟ้องของอธิบดีกรมอัยการเกี่ยวกับการพกพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะสถานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้พกพาจากเจ้าพนักงาน ซึ่งถือว่าโดยสภาพเป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ มีแนวทางพอสรุปได้ดังนี้คือ

1. ถ้าได้นำอาวุธปืนใส่กระเป๋าเก็บไว้ในช่องเก็บของท้ายรถ ซึ่งไม่สามารถหยิบใช้ได้ทันทีทันใด
2. เอาอาวุธปืนใส่กระเป๋าใส่กุญแจแล้ววางไว้ในรถซึ่งไม่สามารถหยิบใช้ได้ทันทีทันใด
3. ไปเก็บเงินจากลูกค้าต่างจังหวัด จำนวนเป็นหมื่นๆ นำติดตัวมาแล้วมีอาวุธปืนได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนแล้วใส่ไว้ในช่องที่เก็บของหน้ารถยนต์เพื่อป้องกันตัวและทรัพย์
4. ไปเก็บเงินจากลูกค้าต่างจังหวัด นำอาวุธปืนติดตัวมาด้วย โดยแยกอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนออกจากกัน ใส่กระเป๋าเอกสารไว้ที่พนักเบาะหลังรถยนต์
5. ห่ออาวุธปืน และแหนบบรรจุกระสุน (แม็กกาซีน) แยกออกคนละห่อเก็บไว้ในกระโปรงท้ายรถยนต์ซึ่งใส่กุญแจ

จึงแจ้งมาเพื่อทราบและแจ้งให้ข้าราชการตำรวจที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อใช้ดุลพินิจประกอบการพิจารณาในการปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องนี้ต่อไป

 

(ลงชื่อ) พล.ต.ท.ณรงค์ มหานนท์
(ณรงค์ มหานนท์ )
รอง อ.ตร.ปป.ปรท.อ.ตร.

ทีนี้เราลองมาทำความเข้าใจ ข้อกฏหมายเกี่ยวกับอาวุธปืนกันบ้าง ยาวหน่อย แต่ค่อยๆ อ่านละกันจ้า

กฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืน
การขออนุญาต

ประชาชนจะมีและใช้อาวุธปืนต้องขออนุญาตต่อนายทะเบียน สำหรับคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯยื่นคำร้องขอที่กองทะเบียนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำหรับคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดให้ยื่นคำร้องขอต่อนายอำเภอท้องที่การขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืนต้องขอเพื่อ
– ป้องกันตัวหรือทรัพย์สินของตน
– สำหรับใช้ในการกีฬาหรือล่าสัตว์

ความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน
การกระทำผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนเหล่านี้ ได้แก่
1. ทำ โดยมิได้รับอนุญาต
2. ซื้อ โดยมิได้รับอนุญาต
3. มี โดยมิได้รับอนุญาต
4.ใช้ โดยมิได้รับอนุญาต
5. สั่ง เข้ามาจากนอกราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาต
6. นำ เข้ามาจากนอกราชอาณาจักร โดยมิได้รับอนุญาต

ความผิดทั้ง 6 ประการ ถ้าเป็นเพียงเกี่ยวกับ “ส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธปืน” หรือ “มีกระสุนปืน” ก็ถือว่ามีความผิดเช่นเดียวกัน ผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน แต่ครอบครองอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายก็มีความผิดเช่นกัน ซึ่งการรับฝากปืนจากผู้อื่นในระยะเวลาอันสั้น หรือการเอาปืนของผู้อื่นมาถือไว้ชั่วขณะ ไม่ถือว่ามีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง แต่อย่างไรก็ดีก็มีเรื่องต้องทราบเกี่ยวการเอาปืนของผู้อื่นมามาถือไว้ชั่วขณะเช่นกัน โดยการครอบครองปืนของผู้อื่นที่ไม่ผิดกฎหมายมี 3 กรณี คือ

1. ผู้ครอบครองอาวุธปืนที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้อื่น เท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาอาวุธนั้นมิให้สูญหาย และผู้ครอบครองนั้นจะต้องมีคุณสมบัติที่จะมี และใช้อาวุธได้ เช่น
– บิดานายดำ เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ต่อมาบิดานายดำตาย นายดำจึงครอบครองอาวุธปืนนั้น เพื่อรอการแจ้งตายภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ทราบการตาย และขอรับมรดกของบิดา ดังนี้นายดำไม่มีความผิด
– นาย ก เป็นผู้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ต่อมานาย ก วิกลจริต นาง ข ภริยา ของนาย ก จึงครอบครองอาวุธปืนของนาย ก เพื่อรอส่งมอบอาวุธปืนและใบอนุญาตแก่นายทะเบียน นาง ข ไม่มีความผิด
– เก็บอาวุธปืนไมมีทะเบียนได้ ตั้งใจว่าจะนำไปมอบให้นายทะเบียน ก็ถูกจับก่อน ดังนี้ไม่มีความผิด แต่ถ้าผู้เก็บอายุแค่ 15 ปี (ยังมีอาวุธปืนไม่ได้) หรือปืนที่เก็บได้เป็นปืนเถื่อน ดังนี้ ถ้าผู้เก็บได้นำมาใช้ก็มีความผิดด้วย

2. ครอบครองอาวุธปืนของราชการทหาร และตำรวจ และของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ

3. ครอบครองอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนประจำเรือเดินทะเล รถไฟ และอากาศยานตามปกติ ซึ่งได้แสดงและให้พนักงานศุลกากรตรวจสอบตามกฎหมายแล้ว
หมายเหตุ ควรสังเกตว่า กฎหมายยกเว้นให้แต่อาวุธปืนของทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มิได้ยกเว้นแก่ตัวราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ

การพกพาอาวุธปืน
กฎหมายห้ามมิให้บุคคลพกพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เว้นแต่เป็นกรณีมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ เช่น ถือปืนติดตามคนร้าย หรือไฟไหม้บ้านต้องขนของและปีนหนีออกจากบ้าน หรือต้องพกปืนเพื่อป้องกันตัว เพราะนำเงินจำนวนมากติดตัวไปต่างจังหวัด เป็นต้น

แต่มีข้อสังเกตว่า ไม่ว่ากรณีใดกฎหมายห้ามเด็ดขาดมิให้พกพาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผย หรือพาไปในชุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้น เพื่อนมัสการ การรื่นเริง การมหรสพหรือการอื่นใด หมายความว่า ถึงแม้จะมีใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวก็ตาม ก็ไม่สามารถพกพาอาวุธปืนโดยเปิดเผย หรือพาไปในชุมชนที่จัดให้มีขึ้น เพื่อการดังกล่าว แต่กฎหมายไม่ห้ามสำหรับเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทหารและตำรวจซึ่งอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ หรือประชาชนผู้ได้รับมอบหมายให้มีหรือใช้อาวุธปืน ซึ่งอยู่ในระหว่างการช่วยเหลือราชการ และมีเหตุจำเป็นต้องมีและใช้อาวุธปืนในการนั้น สำหรับผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตให้พกพาในกรุงเทพฯ คือ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในต่างจังหวัด คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด

การมีอาวุธปืนเพื่อเก็บ
ผู้ใดประสงค์จะมีอาวุธปืนเพื่อเก็บก็ต้องขออนุญาตด้วย การเก็บในที่นี้ หมายถึงการมีไว้โดยไม่ใช้อาวุธปืนนั้น เช่น การเก็บไว้เป็นที่ระลึก เป็นต้น
“การเก็บ” ในที่นี้หมายถึง การมีไว้โดยไม่ใช้อาวุธปืนนั้น เช่น การเก็บไว้เป็นที่ระลึก เป็นต้น ซึ่งผู้ใดที่ต้องการจะมีอาวุธปืนไว้เพื่อเก็บก็จำเป็นจะต้องขออนุญาตจากทางราชการด้วย โดยผุ้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ ให้ไปขออนุญาตมีอาวุธปืนไว้เพื่อเก็บ ณ กองทะเบียน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนคนที่ภูมิลำเนาอยู่ในในต่างจังหวัดให้ยื่นขอใบอนุญาตต่อนายทะเบียนท้องที่ใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนไว้เพื่อเก็บ จะออกให้แก่อาวุธปืนดังต่อไปนี้เท่านั้น คือ
1. อาวุธปืนที่นายทะเบียนเห็นว่า ชำรุดจนใช้ยิงไม่ได้
2. อาวุธปืนแบบพ้นสมัย เช่น ปืนที่ใช้ในสมัยโบราณ,ปืนที่เป็นของเก่าแก่
3. อาวุธปืนที่เป็นรางวัลจากการแข่งขันยิงปืนในทางราชการ

เพราะฉะนั้นถ้าเป็นอาวุธปืนประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมานี้ย่อมไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีไว้เพื่อเก็บ นอกจากนี้แล้วกฎหมายจึงมีข้อห้ามเกี่ยวกับอาวุธปืนที่มีไว้เพื่อเก็บอีกด้วย คือ
1. ห้ามมิให้ยิงอาวุธปืนนั้น
2. ห้ามมิให้มีเครื่องกระสุนที่จะใช้สำหรับอาวุธปืนที่จะมีไว้เพื่อเก็บ
หมายเหตุ ผู้ใดที่มีอาวุธปืนไว้เพื่อเก็บ โดยมิได้รับอนุญาต ถือว่ามีความผิดต้องได้รับโทษตามกฎหมาย

การขออนุญาต
การที่ประชาชนจะมีหรือใช้อาวุธปืนได้โดยถูกกฎหมายนั้น จำเป็นที่จะต้องขออนุญาตจากทางราชการก่อน ซึ่งเมื่อทางราชการอนุญาตแล้ว ก็จะได้ออกใบอนุญาตให้ไป ใบอนุญาตที่เกี่ยวกับอาวุธปืนที่สำคัญ ได้แก่

1. ใบอนุญาตการซื้อขายอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล (แบบ ป.๓)
2. ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล (แบบ ป.๔) มี 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่
2.1 ใบอนุญาตแบบชั่วคราว มีอายุ 6 เดือน นับแต่วันที่ออกใบอนุญาตนั้น
2.2 ใบอนุญาตแบบถาวร ใช้ได้ตลอดเวลาที่ผู้ได้รับอนุญาตยังเป็นเจ้าของอาวุธปืนนั้นอยู่

สถานที่ในการขออนุญาต : สำหรับผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ ให้ยื่นขออนุญาตต่อนายทะเบียน ณ กองทะเบียน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่ต่างจังหวัดให้ยื่นคำร้องต่อนายอำเภอท้องที่เมื่อได้ยื่นคำร้องขอใบอนุญาตต่อทางราชการแล้ว นายทะเบียนก็จะพิจารณาว่า ควรจะออกใบอนุญาตให้ผู้ขอหรือไม่ ซึ่งมีข้อสังเกตที่สำคัญๆดังนี้

1. ในการออกใบอนุญาตให้มีหรือใช้อาวุธปืนนั้น จะออกให้ได้ใน 3 กรณีเท่านั้น คือ
1.1 เพื่อใช้ป้องกันตนเองและทรัพย์สิน
1.2 เพื่อใช้ในการเล่นกีฬา
1.3 เพื่อใช้ในการยิงล่าสัตว์

ถ้าไม่เข้ากรณีใดกรณีหนึ่งในสามกรณีนี้ ทางราชการมักจะไม่ออกใบอนุญาตให้
2. ใบอนุญาตหนึ่งใบจะออกให้สำหรับอาวุธปืนหนึ่งกระบอกเท่านั้น
3. ทางราชการจะไม่ออกใบอนุญาตให้มีหรือใช้ ให้แก่อาวุธที่เป็นอาวุธสงคราม
4. ผู้ที่จะขอใบอนุญาตให้มีหรือใช้อาวุธปืนได้นั้น จะต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามกฎหมาย อาทิเช่น บุคคลผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์)

บุคคลที่เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ (คนวิกลจริต,คนจิตฟั่นเฟือน) บุคคลที่ไม่มีอาชีพและรายได้ คนจรจัด บุคคลผู้ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง นอกจากนี้ทางราชการจะไม่ออกใบอนุญาตให้แก่บุคคลซึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในท้องที่ที่บุคคลนั้น ขออนุญาตน้อยกว่าหกเดือน

ขั้นตอนในการออกใบอนุญาตให้มีหรือใช้อาวุธปืน
ในขั้นแรกนายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธ (แบบ ป.๓) และใบอนุญาตให้มีหรือใช้อาวุธปืนแบบชั่วคราว (แบบ ป.๔ ชั่วคราว) ให้ก่อน ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้ให้ผู้ขออนุญาตไปจัดการหาซื้ออาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนมาให้พร้อมเสียก่อนโดยไม่ผิดกฎหมาย จากนั้นให้ผู้ขออนุญาตนำอาวุธปืนดังกล่าวไปให้นายทะเบียนตรวจสอบว่าอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่จะหามานั้น มีชนิดและขนาดตรงตามที่ระบุไว้ในแบบ ป.๓ และ ป.๔ ชั่วคราวหรือไม่ ถ้าตรง นายทะเบียนก็จะออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนอย่างถาวร (แบบ ป.๔ ถาวร) ต่อไป แต่ทั้งนี้จะต้องนำอาวุธปืนไปให้นายทะเบียนตรวจสอบภายในกำหนด ๖ เดือน นับแต่วันที่ได้ออกใบอนุญาตชั่วคราวให้ ถ้าเกินกำหนด 6 เดือนดังกล่าวไปถือว่า ผู้ขออนุญาตนั้นมีอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต

หมายเหตุ : กรณีที่ซื้ออาวุธปืนจากเจ้าของที่ได้รับอนุญาตแล้ว ผู้ซื้อจะต้องใบขอรับใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนนั้นจากนายทะเบียนก่อน จากนั้นให้ผู้ขอซิ้อนำใบอนุญาตให้ซื้อไปขอรับปืนจากผู้ขายได้เลย หรือจะไปหานายทะเบียนพร้อมกันทั้งผู้ซื้อและเจ้าของปืน ซึ่งนายทะเบียนก็จะทำการออกแบบ ป.๔ ให้ผู้ซื้อต่อไป

การโอนอาวุธปืน
กฎหมายห้ามมิให้โอนอาวุธปืนให้แก่บุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน แม้ผู้โอนจะเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนได้ แต่ถ้าโอนอาวุธปืนให้แก่ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตผู้โอนจะมีความผิด “การโอน” หมายถึง การโอนกรรมสิทธิ์อาวุธปืนของตนให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของ

การรับโอนอาวุธปืนทางมรดก
ในกรณีที่เจ้าของอาวุธปืนซึ่งมีใบอยู่แล้วถึงแก่ความตายกฎหมายกำหนดให้ทายาทของผู้ตายหรือบุคคลอื่นๆ ซึ่งมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือใบอนุญาตให้มี หรือใช้อาวุธปืนของผู้ตาย ไปแจ้งการตายของเจ้าของปืนให้นายทะเบียนทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รู้ถึงการตายของผู้ตาย ถ้าไม่มาแจ้งถือว่ามีความผิดต้องโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท สำหรับนายทะเบียนที่จะไปแจ้งการตายดังกล่าวได้ ได้แก่
1. นายทะเบียนท้องที่ที่ออกใบอนุญาตให้มีหรือใช้อาวุธปืนนั้น
2. นายทะเบียนท้องที่ที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่
3. นายทะเบียนท้องที่ที่ผู้แจ้งการตายมีภูมิลำเนาอยู่

เมื่อได้แจ้งการตายต่อนายทะเบียนแล้ว ให้ทายาทผู้ได้รับอาวุธซึ่งเป็นมรดกของผู้ตายไปติดต่อกับนายทะเบียนท้องที่ภายใน ๖ เดือนนับแต่วันที่ตาย (เจ้าของปืน) ถึงแก่ความตายเพื่อขอรับใบอนุญาตใหม่ ทั้งนี้ เพราะถึงแม้ว่าทายาทจะได้กรรมสิทธิ์ในอาวุธปืนนั้นแล้วก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าเป็นการมีอาวุธในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตซึ่งผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นจึงต้องยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนท้องที่ เพื่อขอใบอนุญาตให้มีหรือใช้อาวุธปืน (แบบ ป.๔) ซึ่ง ทางราชการก็จะพิจารณาว่า ทายาทหรือผู้ขออนุญาตมีคุณสมบัติที่ต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่มีก็จะได้จัดออกใบอนุญาตให้ต่อไป

กรณีต้องแจ้งนายทะเบียน
1. อาวุธปืนหายหรือถูกทำลายต้องแจ้งนายทะเบียนภายใน 15 วัน
2. ใบอนุญาตสูญหายหรือถูกทำลาย ต้องขอใบอนุญาตแทนภายใน 30 วัน นับแต่ทราบเหตุการณ์สูญหายหรือถูกทำลาย
3. ถ้าผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนตาย ทายาทต้องแจ้งนายทะเบียนภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบวันตายของผู้ได้รับใบอนุญาต มิฉะนั้นมีความผิด
4. ผู้ได้รับใบอนุญาตย้ายที่อยู่ ต้องแจ้งย้ายต่อนายทะเบียนภายใน 15 วัน นับแต่วันย้าย โดยต้องแจ้ง 2 ที่ คือแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ย้ายออกภายใน 15 วัน นับแต่วันย้ายออก และแจ้งต่อนายทะเบียนที่ย้ายเข้าภายใน 15 วัน นับแต่วันย้ายเข้า ใครไม่แจ้งมีความผิด
5. ผู้ได้รับใบอนุญาต หากกลายเป็นผู้ไม่มีสิทธิรับใบอนุญาตในภายหลัง เช่น กลายเป็นคนวิกลจริต หรือคนไร้ความสามารถ ต้องคืนอาวุธปืนและใบอนุญาตต่อนายทะเบียนโดยมิชักช้า มิฉะนั้นจะมีความผิด
6. ผู้ใดนำอาวุธปืนมาจากต่างประเทศ ต้องส่งมอบอาวุธปืนแก่พนักงานศุลกากร หรือแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่โดยมิชักช้า มิฉะนั้นจะมีความผิด

การเพิกถอนใบอนุญาต
นายทะเบียนมีอำนาจเพิกถอนใบอนุญาตได้ ถ้าออกให้โดยหลงผิดหรือผู้ได้รับอนุญาตเป็นคนเคยต้องโทษมาก่อน เป็นต้น เมื่อเพิกถอนแล้วผู้รับอนุญาตต้องมอบปืนและใบอนุญาตคืนแก่นายทะเบียนโดยไม่ชักช้า อนึ่ง การให้ผู้อื่นใช้ใบอนุญาตหรือการใช้ใบอนุญาตของผู้อื่น มีโทษจำคุก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :  www.sahanetilaw.com 
ภาพจาก : 
TCIJ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: