นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการปรองดอง เพื่อรับทราบความก้าวหน้าการทำงานของทุกคณะและร่วมกำหนดแผนงานในอนาคต ซึ่งจะต้องจัดทำแนวทางให้สอดคล้องกับ ร่าง พ.ร.บ. แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ และร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เพราะหลังจากกฎหมาย 2 ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ก็จะต้องยุบคณะป.ย.ป. เพื่อลดความซ้ำซ้อนกับคณะปฏิรูปและคณะยุทธศาสตร์ชาติที่จะตั้งขึ้นตามที่กฎหมายระบุไว้
นายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนเริ่มการประชุมว่าประเทศจะเดินหน้าได้ด้วยงานของรัฐบาลที่ทำอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาและเดินหน้าประเทศระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รวมถึงพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติที่ผ่านการพิจารณาเมื่อวานนี้ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยส่วนตัวเห็นว่ามีประโยชน์ แต่ต้องหารือเพื่อให้มั่นใจว่ากฎหมายดังกล่าวจะสามารถบังคับใช้ได้ในอนาคต พร้อมยืนยันว่าไม่ได้ปิดกั้นการทำงานของฝ่ายใดแต่เพื่อวางกรอบการทำงาน ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อาจดูยาวนาน แต่ในทางปฏิบัติจะไม่นาน เพราะเป็นระยะแรกในการวางรากฐานและปฏิรูปประเทศเหมือนกับประเทศจีนที่ใช้เวลากว่า 10 ปีในการยกระดับรายได้ของประเทศ จนมีรายได้เป็นอันดับ 2 ของโลก
ในส่วนของประเทศไทยคงต้องใช้เวลานานกว่านั้น แต่เชื่อว่า 5 ปีแรกจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการวางรากฐานของประเทศ ซึ่งต้องอาศัยความรู้จากทั้งฝ่ายการเมือง ข้าราชการ และภาคประชาชน หากใครมีความคิดเห็น หรือข้อเสนอ ทางรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติพร้อมที่จะรับฟัง
สำหรับความคืบหน้าล่าสุดของคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ได้กำหนดให้มี 27 วาระ 42 เรื่องที่ต้องทำภายในปีนี้ อาทิ ปฏิรูปเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจดิจิทัล และระบบงบประมาณ โดยเบื้องต้นได้เริ่มจัดทำกฎหมายแล้ว 8 ฉบับ เข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.แล้ว 1 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ส่วนอีก 32 เรื่องกำหนดให้ทำภายในปี 2564
ส่วนคณะกรรมการสร้างความสามัคคีปรองดองที่ขณะนี้ได้เรียกพรรคการเมือง และกลุ่มแกนนำ มารับฟังความเห็นและจัดทำข้อสรุปแล้วเมื่อวานนี้ โดยจะเน้นเรื่องที่ดินทำกินประชาชนเป็นหลัก รวมถึงได้จัดทำฐานข้อมูล 5 กลุ่ม ประกอบด้วย
1.ข้อเสนอที่รัฐบาลและ คสช.ได้ดำเนินการแล้ว และกำลังดำเนินการอยู่
2.ข้อเสนอที่สามารถดำเนินการได้ทันที
3.ข้อเสนอที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ
4.ข้อเสนอที่ต้องสร้างการรับรู้เพื่อไม่ให้ขยายไปสู่ความขัดแย้งและ
5.กลุ่มข้อมูลที่จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อนำไปสู่การแก้ไข
ส่วนร่างสัญญาประชาคมยังไม่ได้นำเสนอเข้าที่ประชุมในวันนี้ เนื่องจากกำลังอยู่ในระหว่างร่างแนวทางเพื่อให้นำไปปฏิบัติได้จริงและยึดโยงกับรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ได้มีการจัดทำเพจเฟซบุ๊ก”ปรองดองของประชาชน”เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสื่อสารกับประชาชนให้มากขึ้น โดยภาพมือทั้ง 5 จับกันไว้มีความหมายถึง 5 ภูมิภาคของประเทศไทยที่จะต้องจับมือร่วมกันปรองดอง
ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมไม่ได้มีการพูดคุยหารือกับโรดแมปการเลือกตั้ง หรือเวลาที่เหมาะสมสำหรับปลดล็อกให้พรรคการเมืองได้ทำกิจกรรมทางการเมือง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในที่ประชุมเพียงว่า ในเดือนตุลาคมจะมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 และประมาณปลายปีจะมีเรื่องเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งทุกอย่างจะเดินหน้าหลังจากนั้น ส่วนจะเดินอย่างไรก็อยู่ที่กฎหมายลูก โดยวันนี้ มี 2 ฉบับเข้าสภาไปแล้ว เหลืออีก 2 ฉบับที่จำเป็นต่อการเลือกตั้ง เมื่อครบ 4 ฉบับก็สามารถนับ 1 การเลือกตั้งได้ ส่วนการปลดล็อกพรรคการเมือง เป็นเรื่องที่ คสช.จะต้องพิจาณาจากสถานการณ์เอง
สำหรับพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพนั้น ขอให้รอความชัดเจนในวันอังคารที่ 25 เมษายนนี้ เนื่องจากต้องมีการแจ้งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน
ขอบคุณที่มาจาก : เรื่องเล่าเช้านี้
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ