สตง.ชำแหละ “กรมอุตุนิยมวิทยา” พบเน้นแต่แผนลงทุนจัดหา “เครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ” พบระยะ 5 ปี ใช้จ่ายกว่า 3,070.38 ล้านบาท ไร้ความจริงใจในแผนการปฏิบัติงานด้านการซ่อมแซม ดูแลบำรุงรักษา เผย 8 ประเภท 1,192 รายการ ไม่คุ้มค่า ส่อไม่ปลอดภัยกับประชาชนในการเตือนภัย เหตุเครื่องมือไม่ได้รับการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ จับตา “เครื่องมือสถานีฝนอำเภอ” กว่า 144 สถานี ไม่คุ้มค่า เหตุใช้เครื่องมืออื่นวัดแทนกันได้ ตะลึง! ชำรุดสูงสุดถึง 10 ปี บางแห่ง จนท.ทิ้งเป็นเครื่องมือร้าง
กรมอุตุนิยมวิทยาเป็นหน่วยงานหลักที่คนไทยทั้งประเทศรู้จักกันดีในเรื่องของการทำนายฝนฟ้าอากาศ อย่างน้อยใน 1 วัน 1 สถานีข่าวก็ต้องมีรายงานสภาพอากาศในแต่ละวันเพื่อเตือนภัยพี่น้องประชาชนให้ระมัดระวังภัยจากธรรมชาติ ความน่าเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชนจึงค่อนข้างสูงมาก
แต่เมื่อ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า สตง.เผยแพร่รายงานการตรวจสอบการดำเนินงาน การพัฒนาและบำรุงรักษาเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามแผนงานจัดการภัยพิบัติ (งบ 2555-2559) วงเงินรวม 6,089.54 ล้านบาท โดยเป็นการตรวจสอบเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ งบ (2555-2559) จำนวน 3,070.38 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 50.42 ของเงินงบประมาณทั้งหมด
สตง.พบว่า จากการที่กรมอุตุนิยมวิทยาไม่มีแผนบริหารความเสี่ยงด้านการจัดหาและบำรุงรักษาเครื่องมืออุตุนิยมวิทยาและแผ่นดินไหว แต่ยังใช้งานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ประกอบกับเครื่องมือมีจำนวนมากและมีมูลค่าสูงและมีความจำเป็นต้องบำรุงรักษาอยู่เสมอ โดย สตง.ได้สุ่มตรวจสอบเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ 11 ประเภท พบจุดอ่อนเกี่ยวกับระบบซ่อมแซม ดูแล บำรุงรักษาเครื่องมืออุปกรณ์ และการใช้ประโยชน์เครื่องมือตรวจวัดที่อาจไม่เกิดความคุ้มค่าหรือบางรายการไม่ได้ใช้ประโยชน์ แม้ในปีงบประมาณ 2555-2559 จะมีการจัดสรรค่าใช้จ่ายซ่อมแซมและบำรุงรักษาจำนวน 655.74 ล้านบาท (เฉลี่ยปีละ 131.15 ล้านบาท) และค่าใช้จ่ายเพื่อลงทุนปรับปรุงเครื่องมือฯ จำนวน 2,414.64 ล้านบาท( เฉลี่ยปีละ 482.93 ล้านบาท)
ทั้งนี้ จากค่าใช้จ่ายเพื่อลงทุนปรับปรุงเครื่องมือฯ จำนวน 2,414.64 ล้านบาท นั้น สตง.พบว่า มูลค่าการลงทุน 1,055.29 ล้านบาท ใน 8 ประเภท 1,192 รายการ ไม่เกิดความคุ้มค่า และอาจะเกิดผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนได้ ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการเตือนภัยที่เกิดจากเครื่องมือที่ไม่ได้รับการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ เช่น แบตเตอรี่ที่เสาวัดลมของเครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติระบบวินด์เชียร์ (LLWAS) ซึ่งเกี่ยวข้องและมีความสำคัญต่อการขึ้นลงของเครื่องบิน ซึ่งมีระยะเวลาที่เครื่องมือชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ส่วนใหญ่เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี (สถานีอุตุนิยมวิทยาหลายแห่ง ไม่สามารถระบุระยะเวลาที่เกิดการชำรุดเสียหายที่ยังไม่ได้รับการซ่อมแซมแก้ไขได้ เนื่องไม่มีระบบทะเบียนจัดเก็บ)
มีรายงานว่า เครื่องมือทั้ง 8 ประเภทดังกล่าว ประกอบไปด้วย
1. เครื่องเรดาร์ตรวจอากาศ 6 สถานี มูลค่า 566.56 ล้านบาท ชำรุดมากกว่า 1-2 ปี มีสภาพเก่า หาอะไหล่ทดแทนยาก ไม่คุ้มที่จะซ่อมแซม
2. เครื่องมือตรวจวัดฝนอัตโนมัติ (920 สถานี) พบปัญหาไม่สามารถแสดงผลและรายงานออนไลน์ผ่านเว็บไซด์ไดทั้ง 930 สถานี มากกว่า 7 เดือน เกิดจากสภาพ Server ขัดข้อง โดยตลอดปี 2558 สตง.ได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงและแก้ไข โดยปัจจุบันกรมอุตุนิยมวิทยาได้เข้ามาดำเนินแล้ว
3. เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWS) พบปัญหาการแสดงผล ผ่านเว็บไซด์กรมอุตุนิยมวิทยา Server ออฟไลน์จำนวนมาก เกิดปัญหาระบบเครือข่ายสัญญาณอินเตอร์เน็ท ระบบไฟฟ้าที่ติตดตั้ง AWS ทั้งขัดข้องและชำรุด จากการทดสอบไม่สามารถดำเนินได้ถึง 82 วัน
4. เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWOS) ชุดกว่า 7 สถานี ซึ่งติดตั้งภายในท่าอากาศยาน จ.ตรัง พิษณุโลก อุบลราชธานี นครราชสีมา สกลนคร ภายในสถานีอุตุนิยมวิทยาบุรีรัมย์และศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จ.ขอนแก่น มูลค่ากว่า 93.40 ล้านบาท
5. เครื่องมือสถานีฝนอำเภอ กว่า 500 สถานี พบว่า 144 สถานี มูลค่ารวม 1.37 ล้านบาท มีความชำรุด ไม่สามารถพร้อมใช้งานอย่างเหมาสม พบชำรุดประมาณ 1-3 เดือน บางแห่งชำรุดกว่า 2 ปี และสูงสุดถึง 10 ปี ยังพบรายงานว่า บางแห่งไม่เคยมีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบเครื่องมือเลย
6. เครื่องมือสถานีอุตุนิยมวิทยาเกษตร ที่ตรวจสอบ 24 สถานี พบอุปกรณ์ 17 รายการ จาก 9 สถานีมีปัญหาชำรุด 1-3 ปี 7. เครื่องมือสถานีตรวจอากาศผิวพื้น พบชำรุด 10 แห่ง ใน 17 รายการ และ 8. เครื่องมือสถานีอุตุนิยมวิทยาอุทก จาก 16 สถานีทั่วประเทศ สตง.พบ 9 สถานี เครื่องมือหลักส่วนใหญ่ไม่มีการใช้ประโยชน์ และมีปัญหาชำรุด
“ปัญหาอุปกรณ์ไม่ทันสมัย ยังใช้เป็นระบบ Manaul เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ เจ้าหน้าที่อุตุนิยมวิทยาแจ้งต่อ สตง. รวมถึงจุดอ่อนที่กรมอุตุนิยมวิทยาไม่ให้ความสำคัญต่อการจัดทำแผนการปฏิบัติงานด้านการซ่อมแซม ดูแลบำรุงรักษา มุ่งเน้นเฉพาะแผนปฏิบัติงานด้านการจัดหาเครื่องมือที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมา สตง. ได้ทำหนังสือแจ้งไป ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตามหนังสือที่ ตผ 0015/6652 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2558 ก่อนโครงสร้างเป็นกระทรวงดีอี”
สตง.ยังพบว่า การควบคุม ดูแล บำรุงรักษาเครื่องมือ ไม่เป็นระบบและขาดความต่อเนื่อง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องมือ และจะส่งผลเสียหายต่อการปฏิบัติงานในภารกิจหลักของกรมอุตุนิยมวิทยา ดังการสุ่มตรวจสอบพบว่า สถานีอุตุนิยมวิทยาส่วนใหญ่มีจุดอ่อน เกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนคุมครุภัณฑ์ และทะเบียนคุมการซ่อมแซม บำรุงรักษาเครื่องมือ โดยไม่ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ที่กำหนด อย่างไรก็ตาม สตง.ได้แจ้ง ข้อมูลดังกล่าวให้ กรมอุตุนิยมวิทยาแก้ไขต่อไป
มีรายงานอีกว่า สตง.ยังพบปัญหาการบริหารการใช้ประโยชน์เครื่องมือตรวจวัดบางรายการที่อาจเกิดความไม่คุ้มค่า และเครื่องมือตรวจวัดบางรายการไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะ เครื่องมือตรวจวัดสถานีฝนอำเภอ 1,197 แห่ง รวมมูลค่า22.45 ล้านบาท ซึ่งติดตั้งมานานไม่น้อยกว่า 71 ปี ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในภารกิจอย่างคุ้มค่า และข้อมูลการตรวจวัดที่จัดเก็บ ได้โดยอาศัยเจ้าหน้าที่ตรวจวัดฝนที่แต่งตั้งขึ้นอาจมีความคลาดเคลื่อน ไม่ครบถ้วน และไม่น่าเชื่อถือ
ในขณะที่มีการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดฝนอัตโนมัติ (930 สถานี) รวมมูลค่า 240.49 ล้านบาท กระจายทั่วประเทศ รวมถึงอาจเกิดความไม่คุ้มค่าของการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินปีละประมาณ 2 ล้านบาท สำหรับค่าตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจวัดฝน ทั้งนี้ ไม่รวมมูลค่าอุปกรณ์ที่ต้องใช้ทดแทนกรณีชำรุดเสียหาย ที่ผ่านมา สตง.ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ให้ทบทวนผลการดำเนินงานตามโครงการสถานีฝนอำเภอ และรายการค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานให้ราชการโครงการ สถานีฝนอำเภอ ตามหนังสือที่ ตผ 0015/3283 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2558 เนื่องจากพบประเด็นปัญหา ความเสี่ยง ดังนี้
กรมอุตุนิยมวิทยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลการตรวจวัดของ สถานีฝนอำเภออย่างคุ้มค่า การรายงานข้อมูลผลตรวจวัดของสถานีฝนอำเภอไม่ครบถ้วนและข้อมูลที่ จัดเก็บมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดความคลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง และไม่เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า สถานีฝนอำเภอส่วนใหญ่ไม่มีการรายงานข้อมูลจากการตรวจวัดตามแนวทางที่กำหนดไว้อย่างครบถ้วน และข้อมูลปริมาณน้ำฝนที่ได้จากการตรวจวัดของสถานีฝนอำเภอส่วนใหญ่มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิด ความคลาดเคลื่อน ไม่น่าเชื่อถือ เนื่องการติดตั้งเครื่องมือส่วนใหญ่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ที่กำหนด เครื่องมือตรวจวัดอยู่ในสภาพชำรุด ไม่พร้อมสำหรับการใช้งาน รวมถึงเจ้าหน้าที่ตรวจวัดฝนที่ ได้รับแต่งตั้งส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฝึกอบรมการตรวจวัดฝน การเก็บข้อมูล และการรายงาน ประกอบกับ ขาดการติดตามตรวจเยี่ยม สอบทานข้อมูลอย่างเคร่งครัดจากกรมอุตุนิยมวิทยา อาจทำให้ส่งผลกระทบ ต่อความถูกต้อง เชื่อถือได้ของข้อมูล
นอกจากนี้ ยังพบสถานีอุตุนิยมวิทยาอุทก 9 สถานีนั้น แต่ละสถานีมีการตรวจอากาศทั่วไปโดยมีเครื่องมือติดตั้งที่สนามอุตุนิยมวิทยาเช่นเดียวกับสถานีตรวจอากาศผิวพื้น และมีเครื่องมือตรวจวัดอุตุนิยมวิทยาอุทกโดยเฉพาะสำหรับวัดระดับน้ำและความเร็วกระแสน้ำ ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ รวมมูลค่าไม่น้อยกว่า 5.17 ล้านบาท ทั้งนี้บางรายการไม่เคยมีการใช้ ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ในการวัดระดับน้ำและกระแสน้ำแต่อย่างใด ได้แก่ เครื่องวัดระดับน้ำ แบบจดบันทึก (อัตโนมัติ) รวมมูลค่า 1.99 ล้านบาท และเครื่องวัดกระแสน้ำพร้อมอุปกรณ์ รวมมูลค่า 2.58 ล้านบาท ยังพบว่าสถานีอุตุนิยมวิทยาเกษตร ส่วนใหญ่มีลักษณะการตรวจวัดเช่นเดียวกับสถานีตรวจอากาศผิวพื้น หรือเป็นการตรวจอากาศทั่วไปเป็นหลัก ประกอบกับบางสถานี ไม่สามารถใช้งานเครื่องมือตรวจวัดที่มีวัตถุประสงค์โดยตรงในการใช้ข้อมูลสำหรับ การเกษตรได้
คลิกที่นี่ หากต้องการดาวน์โหลดไฟล์เอกสารตรวจสอบจาก สตง.ฉบับเต็ม
ขอบคุณข้อมูลจาก : มติชนออนไลน์, สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ