ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยล่าสุดของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นการตอกย้ำว่าคนไทยในทุกสาขาอาชีพยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเกษียณอย่างไม่เป็นสุข
หลายต่อหลายงานวิจัยที่เกี่ยวกับชีวิตหลังวัยเกษียณของคนไทย ได้ผลออกมาในทิศทางเดียวกัน พบว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ที่คนไทยส่วนใหญ่ จะเผชิญปัญหาค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอหลังวัยเกษียณ เพราะถึงเวลานั้น จะไม่ใช้เพียงรายจ่ายในชีวิตประจำวันที่จำเป็นต้องมีเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่จะต้องแบกรับภาระที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่ต้องเกษียณแล้วไร้ลูกหลานคอยดูแล
อย่างเช่นผลสำรวจของ “แมนูไลฟ์” ซึ่งสำรวจจากผู้ลงทุนไทยจำนวน 500 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไปในกรุงเทพฯ พบว่า สัดส่วนครึ่งต่อครึ่งของคนไทย หรือ 50% คาดว่าตนเอง จะมีเงินออมเหลือใช้ในวัยเกษียณ และอีก 50% คาดว่าจะมีเงินไม่เพียงพอ สำหรับวัยเกษียณ
“แมนูไลฟ์” ระบุว่า ตัวเลข 50% ที่คาดว่าจะมีเงินไม่เพียงพอสำหรับคนไทยนั้น ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง และน่าเป็นห่วง เพราะว่าผลสำรวจเดียวกันในประเทศอื่น พบว่ามีเพียง 35-40% เท่านั้น ที่คาดว่าจะมีเงินไม่เพียงพอในวัยเกษียณ
ล่าสุด ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยเรื่อง "อัตราเพิ่มและแนวทางเพิ่มอัตราเงินออมของสมาชิก กบข." ซึ่งจัดทำโดยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) พบว่า อัตราการออมตามกฎหมายที่ 3% ของสมาชิก กบข. ภายใต้การบริหารด้วยแนวนโยบายการลงทุนในปัจจุบัน “ไม่สามารถ” ทำให้ข้าราชการสมาชิก มีเงินใช้จ่ายในระดับสะดวกสบายจนวันสุดท้ายของชีวิตได้
โดยอัตราดังกล่าว ถือว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับสัดส่วนการออมภาค บังคับเฉลี่ยในกลุ่มประเทศ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) ซึ่งอยู่ที่ 18% โดยมีนิวซีแลนด์ เป็นประเทศที่มีอัตราการออมต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศนี้ อยู่ที่ 6% ส่วนอิตาลี มีอัตราออมสูงสุดที่ 33%
ผลจากการศึกษาของ กบข. ในครั้งนี้ ยังเผยให้เห็นด้วยว่า สมาชิกมีข้อจำกัดในการออมเงินกับ กบข. ด้วยกันหลายเหตุผล อาทิ สมาชิกไม่สามารถถอนเงินออกมาใช้ก่อนได้ หากมีความจำเป็น และต้องรอรับเงินจำนวนดังกล่าว เมื่อออกจากราชการแล้วเท่านั้น
นอกจากนี้ สมาชิกยังต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนทุกเดือน ในขณะที่บางเดือนอาจมีความจำเป็นต้องใช้เงิน และการฝากเงินกับ กบข. ไม่สามารถนำไปเป็นหลักประกันเงินกู้ได้ เป็นต้น
ที่น่าตกใจไปกว่านั้น คือเมื่อถามถึงความประสงค์ที่ออมเงินเพิ่มกับ กบข. ในอัตราที่สูงกว่าปัจจุบัน พบว่า สมาชิกถึง 49% ไม่ต้องการออมเพิ่ม ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงมาก แม้ในจำนวนสมาชิกอีก 51% จะต้องการออมเพิ่มก็ตาม
ทั้งนี้ สาเหตุที่สมาชิกไม่ต้องการออมเพิ่ม คือ ไม่มีความสามารถในการออมเพิ่ม หรือ หากมี ก็ต้องการจะออมเพิ่มผ่านช่องทางอื่น และมีสมาชิกบางส่วนที่มองว่า การออมในระยะยาวยังไม่ใช่เป้าหมายในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงมาตรการจูงใจในการออมเพิ่ม พบว่าสมาชิก 94% เห็นด้วย หากรัฐจะสมทบเพิ่มให้กับสมาชิกที่ออมเพิ่ม โดยรัฐอาจเพิ่มให้ในอัตราเดียวกัน หรือ ต่างกันก็ได้
และเมื่อสอบถามว่า หากรัฐมีการแก้กฎหมาย ให้มีการปรับเพิ่มอัตราสะสม โดยกำหนดให้สมาชิกมีการสะสมเงินเพิ่ม เมื่อมีการขึ้นเงินเดือน และจะหยุดสะสมเพิ่ม เมื่ออัตราสะสมของสมาชิกบรรลุอัตราสะสมสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด ปรากฎว่าสมาชิก 83% เห็นด้วยกับมาตรการนี้
ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยล่าสุด ของ กบข. ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าคน ไทยทุกสาขาอาชีพ ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเกษียณอย่างไม่เป็นสุข และยิ่งหากทิ้งเงินออมเหล่านี้เอาไว้ในเงินฝาก หรือตราสารหนี้ที่ผลตอบแทนต่ำด้วยแล้ว ยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นไปอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : moneychannel
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ