“กรมการปกครอง” ย้ำ ให้ปชช.ถือเลข 3 ในบัตรปชช.ได้ หากต้องใช้ทำธุรกรรมเพียงมาขอหนังสือรับรองเท่านั้น ยัน ไม่บังคับปชช.เปลี่ยนเลขบัตร
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม นายวิเชียร ชิดชนกนารถ ผอ.สำนักบริหารการทะเบียน (สน.บท.) กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาเลขบัตรประชาชนสำหรับผู้ที่เกิดปี 2527 ว่า ที่ผ่านมาแก้ไขไปแล้ว 7 พันคน จาก 1 หมื่นคนที่มีสูติบัตรไม่ตรงกับเลขในทะเบียนบ้าน ไม่ตรงกับบัตรประชาชน โดยของใหม่อธิบดีกรมการปกครองย้ำชัดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมาแล้วว่าให้ประชาชนถือเลข 3 ในบัตรประชาชนได้ แล้วขอหนังสือรับรองเท่านั้นถ้าต้องใช้ยืนยันอ้างอิงการทำธุรกรรมใดๆ ประชาชนจะได้ไม่ต้องเดือดร้อนไปเปลี่ยนบัตรที่ธนาคาร ไม่ต้องเปลี่ยนพาสปอร์ต เป็นการเยียวยาของกรมการปกครองที่เราทำได้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นกับประชาชน โดยการออกหนังสือรับรองว่าบุคคลนั้น เป็นคนๆเดียวกัน
เมื่อถามว่า ขณะนี้มีประชาชนมาขอหนังสือรับรองแล้วจำนวนเท่าใด นายวิเชียร กล่าวว่า ขณะนี้สำนักทะเบียนกำลังยกร่างหนังสือ และคาดว่าจะออกหนังสือสั่งการได้ภายในวันนี้(12 กรกฎาคม) ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อความก่อนส่งคำสั่งให้อธิบดีกรมการปกครองลงนาม จากนั้นจะเวียนหนังสือไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งปลัดกทม. ให้รับทราบแนวทางว่ากรมการปกครองไม่ได้บังคับให้ประชาชนมาเปลี่ยนเลขบัตรแล้ว ให้สามารถใช้เลขเดิมได้ เพียงแต่ถ้ามีข้อสงสัยว่าทำไมเลขในสูติบัตรไม่ตรงกับเลขทะเบียนบ้านก็สามารถขอหนังสือรับรองว่าเป็นบุคคลเดียว ทำให้ประชาชนไม่ต้องยุ่งยากกับการไปแก้ธุรกรรมอื่นๆ
ส่วนกรณีที่มีประชาชนร้องเรียนว่าทำบัตรธนาคารใหม่หลังเปลี่ยนแปลงข้อมูลบัตรประชาชนให้ถูกต้อง แต่ธนาคารกลับบอกไม่พบข้อมูลนั้น จะแก้ปัญหาอย่างไรนั้น นายวิเชียร กล่าวว่า เป็นเรื่องของระบบธนาคารเพราะประชาชนไปเปลี่ยนเลข ซึ่งธนาคารก็ต้องเปลี่ยนระบบว่าเดี๋ยวนี้เลข 3 เปลี่ยนเป็นเลข 1 แล้ว ซึ่งข้อมูลของทางธนาคารจะมีอยู่ในเลข 3 อยู่แล้ว ธนาคารต้องโอนข้อมูลที่เลข 3 มาที่เลข 1 ซึ่งเป็นเรื่องของแต่ละภาคส่วนไป
นายวิเชียร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้สำหรับหน่วยงานที่จะขอดูสูติบัตรและทะเบียนบ้านพร้อมกันนั้น จะเป็นเรื่องการทำบัตรประชาชนครั้งแรก อย่างไรก็ตามกรมการปกครองเป็นหน่วยงานออกสูติบัตร บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ส่วนใครจะขอดูข้อมูลอะไรเป็นเรื่องของส่วนราชการหรือเอกชนนั้นๆ และที่แก้ไข 7 พันกว่าคนเพราะเมื่อเขาไปทำบัตรประชาชน เจ้าหน้าที่จะเห็นว่าสูติบัตรกับทะเบียนบ้านไม่ตรงกันก็จะแก้ไขตั้งแต่อายุ 15 ปี ซึ่งยังไม่มีธุรกรรมก็ไม่มีปัญหาเดือดร้อน แต่ถ้าปล่อยถึงอายุ 33 ปี ก็จะพันกับธุรกรรมอื่นๆ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่จะแก้ไขตั้งแต่ตอนเป็นเด็กแล้ว
ข่าวจาก : มติชนออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ