กยศ. เริ่มใช้ พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ให้นายจ้างหักเงินเดือนลูกจ้างที่เป็นหนี้ เผยดำเนินการแล้วกว่า 200,000 ราย ที่ทำงานในภาครัฐ
วันที่ 25 กรกฎาคม 2560 นายปรเมศวร์ สังข์เอี่ยม ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารหนี้ กยศ. เปิดเผยถึงพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฉบับใหม่ ที่บังคับให้นายจ้างหักเงินเดือนของลูกจ้างที่เป็นลูกหนี้ กยศ. ว่า ขณะนี้ทาง กยศ. ได้เริ่มดำเนินการให้นายจ้างหักเงินเดือนชำระหนี้แล้วจากลูกหนี้ที่ทำงานในหน่วยงานภาครัฐกว่า 200,000 คน ส่วนอีก 1,200,000 คน ที่ทำงานอยู่ในภาคของเอกชน รัฐวิสาหกิจ และท้องถิ่นนั้น อยู่ระหว่างตรวจสอบ ก่อนเริ่มกระบวนการหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้เช่นกัน
ทั้งนี้ ลูกหนี้ กยศ. ในพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฉบับใหม่ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือลูกหนี้ กยศ. เดิมที่กำลังศึกษาอยู่ หรือจบแล้วมีงานทำและอยู่ระหว่างชำระหนี้ และลูกหนี้ กยศ. ที่จะมีการดำเนินการตามกฎหมายฉบับใหม่ โดยกฎหมายมอบอำนาจให้ กยศ. ตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานรัฐ อาทิ กรมสรรพากร กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง ว่าลูกหนี้ กยศ. ทำงานอยู่ที่ใด ก็จะส่งหนังสือแจ้งไปยังลูกหนี้รวมถึงนายจ้างเพื่อเข้าสู่กระบวนการหักเงินเดือนต่อไป
นอกจากนี้ในส่วนของลูกหนี้ กยศ. ที่ไม่แสดงตนเพื่อชำระหนี้ ทาง กยศ. จะมีมาตรการดำเนินการ 3 ขั้นตอน คือ
– ประสานไปยัง กสทช. เพื่อขอเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ
– เมื่อทราบข้อมูลแล้วว่าลูกหนี้ทำงานอยู่ที่ใด ก็จะดำเนินการแจ้งไปยังนายจ้างทันที ซึ่งก็จะมีผลในเรื่องของความน่าเชื่อถือ
– นำข้อมูลการผิดนัดของลูกหนี้เข้าสู่ฐานข้อมูลเครดิตบูโรทันที ซึ่งก็จะส่งผลในเรื่องของนิติกรรม ก่อนเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องยึดทรัพย์ต่อไป
เบื้องต้น ทาง กยศ. ได้ดำเนินคดีต่อลูกหนี้แล้วกว่า 900,000 ราย
ข่าวจาก : เฟซบุ๊ก Thai PBS
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ