สุดอึ้ง!! ประกาศผลสอบอัยการผู้ช่วยผ่านแค่11คนจาก7,476คน น้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์!!





 

ตะลึงอัยการผู้ช่วยสอบสอบผ่านแค่ 11 คนจากผู้สอบ 7.4 พันคน คิดเป็น 0.147 เปอร์เซ็นต์ เหตุข้อสอบเเต่ละข้อเเยกประเด็นเยอะ ผู้เข้าสอบตอบไม่ตรงธงคำตอบ ทำไม่ทันเวลา เผยข้อสอบอัยการธงคำตอบบางข้อไม่จำเป็นต้องตรงกับคำพิพากษาศาลฎีกา

 

 

เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานอัยการสูงสุด มีประกาศรายชื่อผู้ที่สอบผ่านข้อเขียนเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการเเละเเต่งตั้งให้ดำรงตำเเหน่งอัยการผู้ช่วย (สนามใหญ่) โดยมีผู้สอบข้อเขียนจำนวน 7,476 คน สอบผ่านจำนวน 11 คน คิดเป็น 0.147 เปอร์เซ็นต์

สำหรับรายชื่อผู้ที่สอบได้ประกอบด้วย 1.นายภาสกร เที่ยงพูนวงศ์ 2.น.ส.วรพีพัทธ์ หอสุวรรณจิตร 3.นายพิสุทธิ์ บัวเเย้ม 4.น.ส.ชมชนก รัชตะวราโชติ 5.นายจตุพร ศรีวัน 6.นายชานนท์ ทวีวงศ์ 7.นายอนันต์ชัย คีรีกิจขจร 8.นายธีรรัตน์ มังคุด 9.น.ส.เมษยา โรจนอารีย์ 10.นายอาทรณ์ เกตุเเก้ว และ11.นายศิริพล ตันติพูล โดยหลังจากนี้ผู้ที่สอบข้อเขียนผ่าน จะต้องเข้ารายงานตัวที่สำนักงานอัยการสูงสุด ที่ศูนย์ราชการ ถนนเจ้งวัฒนะ เวลา 09.00 น.วันที่ 4 ส.ค.นี้

มีรายงานข่าวว่า สำหรับจำนวนผู้ที่สอบข้อเขียนผ่านในปีนี้ 11 คน นั้นถือว่ามีจำนวนน้อยมากเป็นประวัติการณ์ในการสอบอัยการผู้ช่วยสนามใหญ่ ที่จะมีผู้เข้าสอบเป็นจำนวนมาก

โดยเเหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุดเปิดเผยถึงเหตุที่ มีผู้เข้าสอบข้อเขียนได้น้อยกว่าทุกปีว่า ปกติเเล้วหากผู้เข้าสอบได้ผ่านเกณฑ์ 50 เปอร์เซ็นต์ ก็จะรับหมด เว้นแต่ปีไหนมีงบประมาณจำกัดก็จะกำหนดจำนวนรับไว้ว่าไม่เกินกี่คน

ซึ่งข้อสอบครั้งนี้ในบางข้อมีความยากกว่าครั้งที่ผ่านมา ข้อสอบมี 10 ข้อ เวลาสอบ 4 ชั่วโมง ซึ่งประเด็นคำถามในข้อสอบแต่ละข้อ มีเยอะมากบางข้อมีร่วม 10 ประเด็นที่ต้องตอบ ขณะที่มีข้อสอบ 10 ข้อ เท่ากับว่าในแต่ละข้อมีเวลาทั้งอ่านข้อสอบและทั้งเขียนคำตอบแค่ ราว 24 นาทีเท่านั้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้เข้าสอบตอบไม่ครบประเด็น และทำข้อสอบไม่ทันเวลาเป็นจำนวนมาก

ซึ่งในการตรวจข้อสอบอัยการผู้ช่วยก็ต้องตรวจให้เป็นไปตามธงคำตอบ เมื่อผู้เข้าสอบตอบไม่ถูก ไม่ครบประเด็นกันมาก ทำให้ได้คะแนนไม่ดีและธงคำตอบข้อสอบอัยการผู้ช่วยบางข้อก็ไม่ได้เห็นสอดคล้องกับแนวคำพิพากษาศาลฎีกา เนื่องจากอัยการพิเคราะห์พิจารณาข้อกฎหมายในบางเรื่องแตกต่างไปจากที่ศาลฎีกาวินิจฉัย เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมายหรือใช้ระบบ Civil Law คำพิพากษาศาลฎีกาจึงไม่ถือว่าเป็นกฎหมายที่จะต้องถือปฏิบัติตาม อย่างเช่นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณีหรือระบบ Common Law เพราะเป็นเพียงแค่แนวทางการใช้และการตีความกฎหมายเท่านั้น

ดังนั้น ธงคำตอบข้อสอบบางข้ออัยการก็จะมีความเห็นและวินิจฉัยข้อกฎหมายที่แตกต่างไปจากที่ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ ในจุดนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ผู้เข้าสอบจำนวนมากที่ตอบโดยยึดแนวคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นหลัก ได้คะแนนไม่ดีในการตอบข้อสอบข้อนั้นไป

ซึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมาเคยมีจำนวนผู้สอบผ่านผู้ช่วยผู้พิพากษาได้น้อยมากขนาดนี้ คือสอบได้เพียง 6 คน ในการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา รุ่น 50 เมื่อปี 2547 แต่ในครั้งนั้นมีความแตกต่าง จากการสอบอัยการผู้ช่วยในครั้งนี้ เนื่องจากการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาในการสอบเมื่อปี 2547 เป็นการสอบสนามเล็ก ที่มีคนเข้าสอบไม่กี่ร้อยคน เเต่การสอบอัยการผู้ช่วยครั้งนี้เป็นการสอบสนามใหญ่ ที่มีคนเข้าสอบจำนวนมากร่วม 8,000 คน

ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า ธงคำตอบข้อสอบอัยการผู้ช่วยไม่ได้มีการเปิดเผยโดยทันทีที่สอบเสร็จ เหมือนเช่นธงคำตอบข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา โดยมักจะทิ้งช่วงเวลาผ่านไประยะหนึ่ง นานพอสมควรแล้วจึงนำธงคำตอบมาเผยแพร่ ซึ่งทำให้ผู้เข้าสอบไม่สามารถทราบได้โดยทันทีที่สอบเสร็จว่าตนเองตอบถูกหรือผิดธงอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้มีเสียงเรียกร้องจากผู้เข้าสอบจำนวนมากขอให้เปิดเผยและเผยแพร่ธงคำตอบโดยทันทีมาโดยตลอด

ข่าวจาก : ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: