อีก1แห่งที่ประสบวิกฤตขาดแคลน! รพ.พิจิตร เป็นหนี้สะสมติดลบมากถึง198ล้านบาท รอกระทรวงไม่ไหว ต้องจัดผ้าป่าหาเงินกันเอง!





 

วันที่ 27 ก.ค. 2560 นายแพทย์ วิริยะ เอี๊ยวประเสริฐ  ผอ.รพ.พิจิตร พร้อมคณะแพทย์พยาบาลที่เป็นระดับบริหารจำนวนเกือบ 20 คน ร่วมกันเปิดใจแถลงถึงภาวะวิกฤตการเงินของ รพ.พิจิตร ว่า ทุกวันนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลหรือ สป.สช.แบบรายหัวประมาณ 3,000 บาทต่อคน แต่ต้องถูกเหมารวมรายจ่ายและเงินเดือน เจ้าหน้าที่บุคลากรที่ต้องนำไปหักยอดข้างต้นอีก 2,004 บาท ทำให้เหลือเงินรายหัวเพียงแค่พันกว่าบาทเท่านั้นจึงทำให้ขาดสภาพคล่องทุกวันนี้ รพ.พิจิตร เป็นหนี้ติดลบมากถึง 198 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดสะสมพัวพันมาหลายปีแต่ยินยันว่าได้ทำทุกวิถีทางในการบริหารจัดการไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชน โดยทุกวันนี้ต้องใช้วิธีประชารัฐร่วมใจทอดผ้าป่าสามัคคีขอรับเงินบริจาคจากผู้ป่วย จากผู้ใจบุญ แบบรายวัน ซึ่งก็ได้ตั้งเป็นเงินกองทุนบัญชีผ้าป่าเพื่อบริหารจัดการภายในโรงพยาบาลที่มีรูปแบบเป็นคณะกรรมการคอยตรวจสอบ ซึ่งทุกวันนี้ รพ.พิจิตร มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขา อาทิเช่น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง , แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินปัสสาวะต่อมลูกหมาก แต่ทุกวันนี้กลับกลายเป็นว่ามีบุคลากรมีคุณภาพ แต่ยังขาดเครื่องมือหรืออุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย เหตุเป็นเพราะระบบบริหารจัดการที่ผ่านมาไม่สอดคล้องกับแนวทางของผู้ปฏิบัติ

 

 

แพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุโข  หัวหน้ากลุ่มงานแผนกสูตินรีเวช รพ.พิจิตร กล่าวว่า ปัญหาการให้บริการผู้ปฏิบัติรู้ปัญหาแต่เป็นเพียงเสียงสะท้อนจากคนตัวเล็กๆไปไม่ถึงระดับผู้บริหาร ดังนั้นจึงขอเสนอให้แก้ พรบ.หลักประกันสุขภาพในมิติต่างๆ ทั้ง 14 ข้อ ที่เคยเสนอไปแล้วและมี 4 ประเด็นหลักที่แพทย์และพยาบาลของ รพ.พิจิตร อยากเสนอเพราะหลายปีที่ผ่านมางบสนับสนุนที่บอกว่า รพ.พิจิตร ได้ค่าหัว 3,000 บาท แท้ที่จริงหักแล้วเหลือแค่พันกว่าบาทที่จะใช้เพื่อการส่งเสริมป้องกันรักษาผู้ป่วย แต่แพทย์พยาบาลในชนบทก็กัดฟันแก้ไขจนผ่านพ้นวิกฤต จึงทำให้ไม่มีผลกระทบต่อผู้ยากไร้แม้งบประมาณจะไม่พอ แต่ก็ทำให้ดีที่สุดไปมากว่านี้ไม่ได้ เหตุเพราะขาดเงินงบประมาณ

 

 

นพ.เสรี วุฒินันท์ชัย หัวหน้ากลุ่มงานกุมารเวชกรรม รพ.พิจิตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ควรแยกการเงินและค่าตอบแทนของหน่วยบริการภาครัฐออกจากค่าเหมาจ่ายรายหัวเพื่อให้มีเงินงบประมาณเท่าเทียมกัน ที่จะให้บริการประชาชน เพราะทุกวันนี้โรงพยาบาลใหญ่ได้มาก โรงพยาบาลเล็กได้น้อย บางแห่งได้แค่เพียง 500 บาท ต่อหัว ซึ่งทำให้ไม่เสมอภาค ทั้งๆที่สิทธิผู้ป่วยและสิทธิของแพทย์พยาบาลควรเท่าเทียมกันทั่วประเทศ แต่ทุกวันนี้หาเป็นเช่นนั้นไม่

 

 

นายแพทย์วิศิษฎ์  อภิสิทธิ์วิทยา ผอ.รพ.บางมูลนาก-ดงเจริญ ที่เรียกตนเองว่า “หมอบ้านนอก” เกิดและเติบโตเป็นหมอในจังหวัดพิจิตรบ้านเกิด กล่าวเสริมว่า ควรปรับปรุง พรบ.ประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เสมอภาคและเท่าเทียมกัน “ประชาชนต้องมีสุขภาพที่ดีขึ้น เจ้าหน้าที่มีความสุข ปรับปรุงก้าวไปข้างหน้าเปลี่ยนแปลงเพื่อให้วงการแพทย์และการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนให้ดีขึ้น”

 

 

แพทย์หญิงเพ็ญศรี  มโนวชิรสรรค์  รองฯ ผอ.ด้านปฐมภูมิและทุติยภูมิ รพ.พิจิตร กล่าวเสริมอีกว่าทุกวันนี้สังคมผู้สูงอายุมีมากขึ้นการเจ็บไข้ได้ป่วยก็มีมากขึ้นเป็นเงาตามตัวเกือบ 20 % เป็นผู้สูงอายุ ป่วยติดบ้านติดเตียงมีค่าใช้จ่าย-ค่ายา-ค่าดูแลรักษาอื่นๆอีกมากมาย แต่บางครั้งก็ติดด้วยระเบียบการเบิกจ่าย วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับปรุงระบบการบริหารด้วยการแก้ไข พรบ.ประกันสุขภาพ 

 

 

นายแพทย์ วิริยะ ผอ.รพ.พิจิตร กล่าวสรุปปิดท้ายว่า… วิกฤตปัญหาการเงินที่ส่งผลสะเทือนไปถึงประชาชนเกิดจากระเบียบและข้อกฎหมาย ดังนั้นจึงควรแก้ที่ พรบ.ประกันสุขภาพแล้วให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม มองปัญหาให้รอบด้าน ทั้งรายจ่าย รายรับ  การบริหารจัดการหารายได้ในการให้บริการแบบระบบ “การจ่ายร่วม แต่ไม่ใช่การจ่ายเพิ่ม เช่นการทอดผ้าป่า , การจัดกิจกรรมการกุศล ให้บริการนอกเหนือบัตรทอง เช่น เสริมความงาม อย่างนี้เป็นต้น 

นายแพทย์ วิริยะ ผอ.รพ.พิจิตร กล่าวอีกว่า รพ.พิจิตร เป็น รพ.ขนาดใหญ่มี 405 เตียง มีผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละ 1,000-1,200 คน มีบุคลากลทุกสาขารวมแล้วประมาณ 1,200 คน คาดว่าก่อนสิ้นปีนี้จะเปิดตึก 6 ชั้นอาคารหลังใหม่ ที่ได้งบประมาณมาเพียงการสร้างอาคารแต่ยังขาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญอีกหลายรายการ ซึ่งยอมรับว่า จะต้องหาเงินจากผู้บริจาคเพื่อทำห้อง ICU หรือผู้ป่วยฉุกเฉินที่ตามมาตรฐานต้องมี 10% หรือ 40 เตียง แต่ทุกวันนี้มีแค่ 12 เตียง รวมถึงห้องผ่าตัดก็มีเพียงแค่ 9 ห้อง ใช้มาหลายสิบปี ทุกวันนี้มีผู้ป่วยมีคนไข้ฉุกเฉินจะต้องผ่าตัด แพทย์ก็ต้องเข้าคิวแย่งห้องผ่าตัดกันเหมือนแย่งเก้าอี้ดนตรี ดังนั้นปัญหาเช่นนี้รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข สปสช. และประชาชนควรต้องรับรู้และหันหน้าเข้าหากันเพื่อปรึกษาหารือหาแนวทางแก้ไข เพื่อส่งเสริม ป้องกัน รักษา โรคภัยไข้เจ็บของประชาชนอย่างมีคุณภาพให้ดี ให้ได้ต่อไป

 

 

 

 

 

ข่าวจาก : 77jowo.com

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: