ลูกจ้างเฮ! ใครเกษียณ60ปี รับเงินชดเชยสูงสุด300วัน คนทำงาน20ปีรอเพิ่มสิทธิ์ปีนี้!





 

เมื่อวันที่ 25 กันยายน นายอภิญญา  สุจริตตานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน  กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2560 ซึ่งมีผลในวันที่ 1 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา แต่ต้องชี้แจงให้เกิดความเข้าใจ เนื่องจากยังเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในหลายประเด็น   โดยประเด็นแรก คือ เรื่องเกษียณอายุราชการเท่ากับเลิกจ้างนั้น  โดยกรณีที่สถานประกอบการและลูกจ้างไม่ได้ทำข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการเกษียณอายุการทำงาน หรือมีการตกลงแต่กำหนดเป็นอายุ 70 ปี หากเป็นเช่นนั้น กฎหมายได้ระบุเพิ่มเติมว่า กรณีไม่ได้กำหนดอายุเกษียณหรือกำหนดไว้เกินอายุ 60 ปีให้สิทธิลูกจ้างแสดงเจตนาขอเกษียณอายุได้ ซึ่งหมายความว่าเมื่อครบ 60 ปี เกินมา 2 ปีหรือมาเท่าไหร่ก็ตามสามารถแสดงความจำนงได้ และสิทธิค่าชดเชยจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น 30 วัน

“ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนเป็นต้นไป สถานประกอบการใดที่ไม่ได้กำหนดเรื่องเกษียณอายุเอาไว้ ลูกจ้างมีสิทธิ์แสดงความต้องการในการเกษียณอายุได้ แต่ต้องย้ำว่า หากขอเกษียณไปแล้ว และต้องการกลับมาทำงานใหม่กับนายจ้างคนเดิม หรือนายจ้างคนใหม่จะไม่สามารถใช้สิทธิ์ซ้ำอีก เพราะสิทธิ์นี้ใช้ได้เพียงครั้งเดียว และขอย้ำอีกในส่วนของสถานประกอบการที่กำหนดอายุเกษียณไว้ที่อายุ 55 ปีก็ต้องเป็นไปตามข้อตกลง จะใช้กฎหมายนี้ไม่ได้  นอกจากนี้ อยากให้เข้าใจว่ากฎหมายนี้ไม่ได้บังคับ หากไม่ประสงค์จะเกษียณเมื่อครบ 60ปีแล้ว และทางบริษัทก็จ้างต่อ ก็ยังคงทำงานได้ต่อไป”นายอภิญญา กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การจ่ายชดเชยจะเป็นในอัตราเดิม หรืออัตราใหม่ที่กำลังปรับแก้ไข รองอธิบดีฯ กล่าวว่า เป็นไปตามอัตราเดิมก่อนมี 5 ขั้น ซึ่งขั้นที่ 6 ที่ระบุว่าหากทำงานเกิน 20 ปีจะได้รับเงิน 400 วันนั้น ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องเข้าครม.อีกครั้งและเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาอีก แต่คาดว่าน่าจะใช้ได้ภายในปีนี้ ดังนั้น ระหว่างที่กฎหมายยังไม่ออกนั้นจะต้องใช้อัตราจ่ายชดเชยตามเดิมคือ 5 ขั้นตอน   1.ลูกจ้างทำงานต่อเนื่องครบ 120 วัน ได้รับค่าชดเชย 30 วัน 2.ลูกจ้างทำงานครบ 1 ปี ได้รับค่าชดเชย 90 วัน 3.ลูกจ้างทำงานต่อเนื่อง 6 ปี ได้รับค่าชดเชย 180 วัน 4.ลูกจ้างทำงานต่อเนื่อง 8 ปี ได้รับค่าชดเชย 240 วัน และ 5.ลูกจ้างทำงานต่อเนื่อง 10 ปี ได้รับค่าชดเชย 300 วัน แต่กฎหมายฉบับใหม่ได้เพิ่มอัตราที่ 6 คือ หากทำงานต่อเนื่องครบ 20 ปี จะได้รับค่าชดเชย 400 วัน

ด้าน นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานประเทศไทย กล่าวว่า จริงๆกฎหมายนี้เป็นการผลักดันโดยองค์การลูกจ้างมาตลอด โดยเฉพาะเรื่องการเกษียณอายุเท่ากับเลิกจ้าง เนื่องจากตัวเลขที่ผ่านมาพบว่ามีสถานประกอบการประมาณ 90,000 แห่งที่ไม่มีการกำหนดอายุเกษียณไว้  ซึ่งเป็นปัญหามาก  ดังนั้น กฎหมายนี้จะเป็นประโยชน์ในการให้สิทธิ์ลูกจ้างในการทำงาน แต่ไม่ใช่ว่าอายุ 60 ปีจะต้องเลิกจ้างหรือเกษียณเลย หากลูกจ้างไม่บอกเกษียณอายุก็ต้องจ้างงานต่อไป

ข่าวจาก : มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: